ZT Maju - шаблон joomla Продвижение

ข่าวเด่นประจำวัน

1554893783774

 กรมสุขภาพจิต ห่วงพฤติกรรมการเสพข่าวสารบนโลกโซเซียลที่มีกับดัก คือ ระบบการกรองข้อมูล ที่ทำให้เห็นเฉพาะสิ่งที่ชอบ หรือสนใจ ทำให้เกิดเสียงสะท้อนวนไปวนมาของความคิดที่คล้ายๆ กัน หรือ เกิดอคติจากการยืนยันข้อมูลโดยกลุ่มที่มีความชอบและมีความสนใจเหมือนตนเองซ้ำๆ ทำให้เกิดการรับรู้ที่ไม่สะท้อนโลกที่เป็นกลาง และหลากหลาย เพราะข้อมูลที่เห็นอาจจะไม่จริงทั้งหมด และมีข้อมูลจริงที่มองไม่เห็น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความคิด ความเชื่อ และการกระทำที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อตัวเอง และสังคมโดยรวม แนะทางออกให้มองโลกตามความจริง เปิดรับข่าวสารจากหลากหลายสื่อ หลากหลายความคิด มากกว่าการเปิดรับข้อมูลเฉพาะสิ่งที่เราเลือกจะเห็นบนโลกโซเชียล เท่านั้น

   นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมืองของ              กรมสุขภาพจิต พบสาเหตุความเครียดที่สำคัญ คือ พฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารมากเกินไป และไม่รู้เท่าทันความอันตรายของข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะบนโลกโซเซียล ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา เช่น ความเบื่อหน่าย ความสิ้นหวัง และความเกลียดชัง รวมทั้งทำให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดในสังคม นอกจากนี้ ด้วยระบบการกรองข้อมูลบนโลกโซเชียลที่ทำให้ทุกคนเลือกรับสื่อที่ตัวเองชอบ และสนใจ เลือกกลุ่มเพื่อนเฉพาะที่เข้ากับตัวเองเท่านั้น เสมือนการติดอยู่ในฟองสบู่ข้อมูลข่าวสารของตัวเอง (filter bubble) และยังทำให้เกิดเสียงสะท้อนวนไปวนมาของความคิดที่คล้ายๆ กัน (echo chamber effect) หรือเกิดอคติจากการยืนยันข้อมูลโดยกลุ่มที่มีความชอบ และมีความสนใจเหมือนตนเองซ้ำๆ (confirmation bias) ทำให้เกิดการรับรู้ที่ไม่สะท้อนโลกที่เป็นกลางและหลากหลาย เพราะข้อมูลที่เห็นอาจจะไม่จริงทั้งหมด และมีข้อมูลอีกหลายๆ ด้าน ที่ไม่มีโอกาสเห็น ทำให้มีทัศนคติและมุมมองต่อสังคมที่แคบลง และกลายเป็นคนที่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองรับรู้ คือ ความจริงเพียงหนึ่งเดียว ไม่ยอมรับข้อมูลอื่นที่ต่างออกไป แม้จะเป็นข้อมูลที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงและถูกต้องก็ตาม ซึ่งความคิด ความเชื่อ และการกระทำจากรับข้อมูลข่าวสารลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเอง เช่น การตัดสินใจ การประสบความสำเร็จในชีวิต รวมทั้งอาจกระทบต่อสังคมโดยรวมด้วย ดังนั้น การใช้โซเชียลเพื่อเป็นเครื่องมือเชื่อมข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน จึงจำเป็นต้องมองโลกตามความจริง เพื่อเห็นโลกอย่างเป็นกลาง โดยการเปิดรับข่าวสารจากหลากหลายสื่อ หลากหลายความคิด เปิดรับข้อมูลทั้งจากฝั่งที่ชอบ และฝั่งไม่ชอบ 

สำหรับการเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมือง กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการโดยเก็บข้อมูลจากบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และเผยแพร่แบบประเมินอารมณ์และความเครียดทางการเมือง นอกจากนั้น ยังได้ วางแผนการวางระบบที่จะใช้รวบรวมข้อมูลจากสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ดูผลที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ซึ่งจะช่วยให้การเฝ้าระวังอารมณ์ทางการเมืองสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ นำไปสู่การผ่อนคลายปัญหา และสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว                         

                                               ******************************                 

 

ข่าวเด่นประจำวัน

160097

          กรมสุขภาพจิต มีความห่วงใยประชาชนเกิดความเครียดในช่วงหน้าร้อน แนะ 5 วิธีรับมือลดอุณหภูมิใจ มีสติรู้ตัวสามารถจัดการกับความเครียดได้ ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดร้อนจัด

          วันนี้ (23 เมษายน 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศร้อนในขณะนี้ว่า มีความเป็นห่วงปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งในช่วงอากาศร้อนย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียดเพิ่มในใจได้ ไม่ว่าจะเครียดจากเรื่องการเงิน การงาน การเรียน ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาส่วนตัว หากไม่มีวิธีการจัดการกับความเครียดที่ดี เมื่อเจอสภาพอากาศที่ร้อนเข้าไปอีก ย่อมจะเพิ่มความเครียดให้สูงขึ้นได้ ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว โมโหง่ายขึ้น ทนต่อความเครียดน้อยลง เครียดง่ายกว่าปกติหากมีอะไรมากระตุ้นกับจิตใจ และอาจตัดสินใจโดยไม่ยั้งคิด ทำให้เกิดการกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้ง และอาจใช้ความรุนแรง เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตมีข้อแนะนำในการรับมือเพื่อลดอุณภูมิใจไม่ให้เครียด ช่วงหน้าร้อน ด้วย 5 วิธี ดังนี้ 1. มีสติรู้ตัว รู้วิธีการจัดการกับอารมณ์และความเครียดที่เกิดขึ้น ย่อมช่วยลดอุณภูมิใจไม่ให้สูงขึ้นไปกับสภาพอากาศที่ร้อนได้ 2. ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลี่ยงอาหารรสจัด และเผ็ดร้อน 4. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง 5. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดร้อนจัด และหากต้องอยู่กลางแดดร้อนจัดติดต่อกันนาน ควรสวมหมวกหรือกางร่ม สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายระบายความร้อนได้ดี ใส่แว่นตากันแดด ทาครีมกันแดด สลับกับการพักเป็นระยะในที่ร่ม เพื่อลดอารมณ์หงุดหงิดจากอุณภูมิที่ร้อนจัด

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการมึนเมาจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ จะทำให้ขาดสติ ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย ทั้งนี้ หากประชาชนยังมีความเครียด ไม่สบายใจ สามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง


********************************************** 23 เมษายน 2562

ข่าวเด่นประจำวัน

           กรมสุขภาพจิต แนะใช้ 4 วิธีง่ายๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท คือ ญาติใกล้ ได้ยา มาตามนัด ขจัดยาเสพติด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ

          วันนี้ (23 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันโรคจิตเภทโลก (World Schizophrenia day) โดยได้รับรายงานจากรพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ว่า ในประเทศไทยโรคจิตเภทเป็นโรคทางจิตเวชที่ถึงแม้จะพบไม่มาก แต่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญทางด้านจิตเวชและสาธารณสุข ซึ่งจะพบโรคนี้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร คาดว่า ทั่วประเทศมีประมาณ 600,000 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน พบในผู้ชายและผู้หญิงใกล้เคียงกัน ในปีที่ผ่านมาผู้ป่วยจิตเภทเข้าถึงบริการแล้ว 480,000 คน สำหรับลักษณะอาการที่สำคัญของผู้ป่วยโรคจิตเภทที่สามารถสังเกตได้ คือ หลงผิด ประสาทหลอน พูดจาไม่รู้เรื่อง และมีพฤติกรรมท่าทางแปลกๆ แต่งกายไม่เหมาะสม  ซึ่งสามารถรักษาได้ หากพบแพทย์เร็วและได้รับการดูแลฟื้นฟูที่เหมาะสม

          นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการรุนแรงยุ่งยากซับซ้อนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งยังเป็นศูนย์เชี่ยวชาญต้นแบบในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) อีกด้วย ซึ่งทางรพ.ได้น้อมนำทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยจัดทำโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้านการเกษตร เป็นโครงการเกษตรบำบัด การทำแปลงผักสวนครัวแบบอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมี สำหรับฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการดีขึ้นบ้างแล้ว สามารถควบคุมตนเองได้ร่วมกับโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคมและอาชีพให้กับผู้ป่วยในรูปแบบอื่นๆ ดำเนินการภายใต้การดูแลของทีมสหวิชาชีพ เพื่อพัฒนาผู้ป่วยให้มีทักษะทางสังคมและอาชีพการงาน เป็นการสร้างโอกาส และเตรียมความพร้อมกลับสู่ครอบครัวและชุมชนได้ โดยมีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการภายหลังการฟื้นฟูตามกระบวนการนี้ ผู้ป่วยที่อาการทุเลาสามารถกลับสู่ชุมชนเพื่อประกอบอาชีพเองได้เป็นจำนวนมาก

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ ใช้ 4 วิธีง่ายๆ ดังนี้  1. ญาติใกล้ มีญาติคอยดูแล ใช้ครอบครัวบำบัด พร้อมพูดคุยแบ่งปันความรู้สึกแก่กันได้ และสังเกตอาการเตือนของผู้ป่วยก่อนนำเข้าพบแพทย์  2. ได้ยา การให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น ควรให้ผู้ป่วยได้กินยาอย่างต่อเนื่อง  3. มาตามนัด ให้ผู้ป่วยมารักษาอาการตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ขาดนัด และ 4. ขจัดยาเสพติด หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดทุกชนิด ทั้งสุราและยาเสพติด แม้ว่าธรรมชาติของโรคจิตเภทส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรื้อรัง แต่หากสามารถดูแลให้ผู้ป่วยได้ปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ จะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น ไม่มีอาการกำเริบ มีโอกาสหายสูง รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

                               *************************************************               23 พฤษภาคม 2562

 

ข่าวเด่นประจำวัน

010519-Pic

        กรมสุขภาพจิต แนะนำเคล็ดลับ 6 ประการ เติมพลังให้กับคนวัยทำงาน ได้แก่ พลังใจ พลังกาย พลังสติ พลังความคิด พลังในการปรับตัว และพลังชีวิต เพื่อให้ทำงานอย่างมีความสุข

          วันนี้ (1 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ซึ่งคนในวัยทำงานเต็มไปด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบ ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้เราต้องเผชิญ อาจทำให้เราหมดพลัง เกิดความเครียด และท้อแท้ตามมาได้ ดังนั้น หากเรามีการเติมพลังที่ดี จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เราฟื้นคืนกลับมามีพลังในการทำงาน อีกทั้งทำให้เราสามารถฝ่าฟันต่อปัญหาอุปสรรค ตลอดจนสามารถหาวิธีแก้ไข และมีทางออกที่ดีได้                    

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ขอแนะนำเคล็ดลับ 6 ประการ เติมพลังคนวัยทำงาน ดังนี้           1. เติมพลังใจ โดยการฝึกมองโลกในแง่ดี เมื่อเรามีทัศนคติที่ดี ทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย สร้างกำลังใจให้ตัวเองและผู้อื่น           จะทำให้เรามีความสุขและสนุกกับการทำงาน 2. เติมพลังกาย โดยการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งการที่เรามีสุขภาพกายดี จะส่งผลให้สมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มีการเรียนรู้และมีความจำที่ดี 3. เติมพลังสติ การมีสติต่อทุกเรื่องราว จะทำให้เรามีการตัดสินใจที่ดี รู้จักที่จะทำหรือพูดในเวลาที่เหมาะสม สามารถลงมือทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีสมาธิ ตลอดจนหาวิธีผ่อนคลายความเครียด และ มีการจัดการกับความเครียดได้

4. เติมพลังความคิด มีหลักคิดในการดำเนินชีวิตและการทำงาน โดยใช้แนวคิด “คิดเป็น คิดดี คิดให้” มีความคิดยืดหยุ่น สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ เรียนรู้และเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นตามความสามารถ รวมทั้งหาโอกาสทำประโยชน์ต่อสังคม 5. เติมพลังในการปรับตัว รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ สามารถปรับตัวได้กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี และสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และ 6. เติมพลังชีวิต คือ การที่เราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งความชอบของคนเรานั้นแตกต่างกัน การได้ทำในสิ่งที่ชอบหรือกิจกรรมที่ชอบ จึงเปรียบเสมือนการเติมเต็มกำไรให้กับชีวิต เช่น การทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว การไปท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ฯลฯ จะทำให้เราสามารถกลับมาทำงานได้อย่างสดชื่น และเป็นการสร้างสมดุลให้กับชีวิตอีกด้วย อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

                         **********************************************           1 พฤษภาคม 2562

ข่าวเด่นประจำวัน

270519-Pic

        กรมสุขภาพจิต แนะนำเทคนิค 4 ประการ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลช่วยเหลือลูกวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมรุนแรง คือ 1. ฝึกจัดการกับความโกรธ 2. การเสริมสร้างการตระหนักในคุณค่าของตนเอง 3. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา และ 4. พ่อแม่ควรให้เวลากับการดูแลครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมความรุนแรง

          วันนี้ (27 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นที่ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ มีออกมาเรื่อยๆ และมีแนวโน้ม ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นโดยใช้กำลัง การพกพาอาวุธ การทำลายทรัพย์สิน การรวมกลุ่ม   ยกพวกตีกัน การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต ฯลฯ นำมาซึ่งปัญหาและผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นตามมาอีกมากมาย ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรมความรุนแรงและในเด็กและเยาวชนนั้น มักเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งด้านสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยด้านบวกหรือปัจจัยป้องกัน และผลกระทบของแต่ละปัจจัย ยังขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่เกิดขึ้น ระยะเวลา และความรุนแรงด้วย นอกจากนี้ หากเด็กและเยาวชนขาดการปลูกฝังความรู้คู่คุณธรรม ขาดการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา และไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมในช่วงต้นของชีวิตจะทำให้กลายเป็นปัญหาในอนาคตได้

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตขอแนะนำพ่อแม่ในการดูแลช่วยเหลือลูกวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมความรุนแรง 4 ประการ ดังนี้ 1. ฝึกจัดการกับความโกรธ ซึ่งสามารถฝึกทักษะต่างๆ ตามความถนัดหรือตามความสนใจของวัยรุ่น เช่น ฝึกการควบคุมความโกรธ การจัดการกับอารมณ์ ฝึกควบคุมความคิดของตนเอง การฝึกคลายเครียด เป็นต้น               2. การเสริมสร้างการตระหนักในคุณค่าของตนเอง เป็นการสนับสนุนให้วัยรุ่นเชื่อว่า ตนเองมีคุณค่ามีความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งครอบครัวและคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญในการช่วยประคับประคอง และสนับสนุนให้วัยรุ่นพัฒนาความสามารถตามความถนัดและยอมรับในตัวตนของวัยรุ่น 3. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อารมณ์ ค่อยๆ คิดแก้ไขปัญหา ซึ่งความหนักแน่นมั่นคงของพ่อแม่ การอยู่ในศีลธรรมอันดี จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก และหากลูกวัยรุ่นมีปัญหาก็ให้คำแนะนำ ส่งเสริมให้ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา รวมทั้งแก้ไขปัญหาเคียงข้างลูก และ 4. พ่อแม่ควรให้เวลากับการดูแลครอบครัวให้มากขึ้น มอบความรัก ความอบอุ่น ส่งเสริมให้มีการสื่อสารพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกัน จะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ครอบครัวมีความเข้มแข็ง และจะช่วยให้เด็กวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและ มีคุณภาพในอนาคต มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และจิตใจที่ดี ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง

          ทั้งนี้ หากพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

                              **********************************************                        27 พฤษภาคม 2562

Subcategories

  • ข่าวประชาสัมพันธ์

    ความเครียด!!!

    วามเครียด เป็นภาวะของอารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คับข้องใจ หรือถูกบีบคั้น กดดันจนทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ สับสน โกรธ หรือเสียใจ

    ลกระทบที่ได้จากความเครียด
       
    -
    ด้านร่ายกาย เช่น อาจจะทำให้ท้องเสีย หรือท้องผูก วิงเวียนศีรษะ ปวดหลัง เป็นต้น
        - ด้านอารมณ์ เช่น ส่งผลให้ขี้หงุดหงิด ซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้ อ่อนไหวได้ง่าย เป็นต้น
        - ด้านพฤติกรรม เช่น มีปัญหาด้านการกิน นอนไม่หลับ แยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น

    าเหตุของความเครียด
        1.จากตัวเอง
           อคติ รับผิดชอบงานไม่ตรงความสามารถ ภาวะกดดันการทำงานในระยะเวลาจำกัด ปัญหาครอบครัว
        2.สภาพแวดล้อมในการทำงาน
           ปริมาณงานมาก ความสัมพันธ์กับผู้อื่นในที่ทำงานไม่ดี งานมีระเบียบมากไป งานไม่มีความมั่นคงก้าวหน้า สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี

  • ข่าวเด่นประจำวัน

    วามเครียด เป็นภาวะของอารมณ์ หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คับข้องใจ หรือถูกบีบคั้น กดดันจนทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ สับสน โกรธ หรือเสียใจ

    ลกระทบที่ได้จากความเครียด
       
    -ด้านร่ายกาย เช่น อาจจะทำให้ท้องเสีย หรือท้องผูก วิงเวียนศีรษะ ปวดหลัง เป็นต้น
        - ด้านอารมณ์ เช่น ส่งผลให้ขี้หงุดหงิด ซึมเศร้า รู้สึกท้อแท้ อ่อนไหวได้ง่าย เป็นต้น
        - ด้านพฤติกรรม เช่น มีปัญหาด้านการกิน นอนไม่หลับ แยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น

    าเหตุของความเครียด
        1.จากตัวเอง
           อคติ รับผิดชอบงานไม่ตรงความสามารถ ภาวะกดดันการทำงานในระยะเวลาจำกัด ปัญหาครอบครัว
        2.สภาพแวดล้อมในการทำงาน
           ปริมาณงานมาก ความสัมพันธ์กับผู้อื่นในที่ทำงานไม่ดี งานมีระเบียบมากไป งานไม่มีความมั่นคงก้าวหน้า สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี

คลังเอกสารคุณภาพฝ่ายการพยาบาล

2-10-2566 10-28-57

Zo2 Framework Settings

Select one of sample color schemes

Google Font

Menu Font
Body Font
Heading Font

Body

Background Color
Text Color
Link Color
Background Image
 
Top of Page