
แพทย์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าได้จากการสอบถามประวัติอาการ การตรวจร่างกายทั่วไป การ ตรวจสภาพจิต แล้ววินิจฉัยตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association: APA)
อนึ่ง เกณฑ์การวินิจฉัยว่าเกิดเป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง (Major Depressive Disorder) แล้ว ได้แก่
ก. ผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการจากอารมณ์รู้สึกเศร้า และ/หรือเบื่อหน่ายไม่มีความสุข ซึ่งต่างไปจากอดีต รวมกับอาการ 5 อาการ (หรือมากกว่า) ดังจะกล่าวต่อไป โดยมีอาการร่วมกันอยู่นานอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน จากการบอกเล่าของผู้ป่วยหรือจากการสังเกตของผู้อื่น (หมายเหตุ: ในเด็กและวัยรุ่นสามารถเกิดเป็นอารมณ์หงุดหงิด)
- ความสนใจหรือความสุขใจในกิจกรรมต่างๆทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
- น้ำหนักตัวลดลง (โดยมิได้เป็นจากการคุมอาหาร) หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ/อย่างมาก หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
- นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไปแทบทุกวัน
- กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้า ไม่อยากทำอะไรแทบทุกวัน
- อ่อนเพลียหรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
- รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควร แทบทุกวัน
- สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลงหรือตัดสินใจอะไรไม่ได้แทบทุกวัน
- คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ คิดอยากตายอยู่เรื่อยๆ โดยมิได้วางแผนแน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน
ข. อาการเหล่านี้ต้องมิได้เข้ากับเกณฑ์โรคอื่นๆทางจิตเวช
ค. อาการเหล่านี้ก่อให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์ หรือกิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่นๆที่สำคัญ บกพร่องลง
ง. อาการมิได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสารต่างๆ (เช่น ยา) หรือจากภาวะความเจ็บ ป่วยทางกาย
จ. อาการไม่ได้เข้ากับเศร้าจากการที่คนรักเพิ่งสูญเสียไป คนทั่วไปมักจะเป็นอยู่ประมาณ 2 เดือนหลังสูญเสียคนรัก
***อนึ่ง แยกรูปแบบการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเป็น 2 แบบได้แก่
ก.โรคซึมเศร้ารุนแรง: อาการเกิดครั้งแรก (Major Depressive Disorder: Single Episode)
- มีอาการซึมเศร้าหนึ่งครั้ง
- อาการซึมเศร้าไม่ได้มีอาการทางจิตหรือโรคจิตเภทอยู่ก่อน
- ไม่เคยมีอาการอารมณ์ดีมากกว่าปกติ
ข. โรคซึมเศร้ารุนแรง: อาการกลับเป็นซ้ำ (Major Depressive Disorder: Recurrent)
- มีอาการซึมเศร้า 2 ครั้งหรือมากกว่าในระยะเวลาห่างกันมากกว่า 6 เดือน
- อาการซึมเศร้าไม่ได้มีอาการทางจิตหรือโรคจิตเภทอยู่ก่อน
- ไม่เคยมีอาการอารมณ์ดีมากกว่าปกติ
ดูแลเบื้องต้นอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าซึมเศร้า?
การดูแลตนเองเมื่อรู้สึกตัวว่าเครียดหรือซึมเศร้า (ตามแบบประเมินโรคซึมเศร้าในหัวข้อ สัญญาณเตือน)
- ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันครั้งละ 30 นาทีเช่น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิค
- สร้างเสียงหัวเราะให้ตัวเอง ดูภาพยนตร์ตลกหรืออ่านหนังสือการ์ตูนขำขัน สามารถช่วยคลายความวิตกกังวลและลดความเครียดได้
- ระบายอารมณ์เสียบ้าง อาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์โกรธไว้โดยไม่แสดงออก การระบายอารมณ์มีหลายวิธี ทั้งตะโกน ร้องไห้ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก
- พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ การเล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟังจะช่วยลดความฟุ้งซ่าน ทั้งยังได้ข้อคิดและเรียนรู้ว่า ความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราเพียงคนเดียว
- มองโลกในแง่ดี ทุกปัญหาย่อมมีทางออก ทุกอุปสรรคย่อมมีโอกาส การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้ค้นพบแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ดูแลรักษาความเครียดอย่างไร?
- การดูแลรักษาความเครียด
ความเครียดมีผลกับร่างกาย 3 อย่างคือ การหายใจ ปวดท้อง และปวดศีรษะ วิธีคลายเครียดหรือการดูแลความเครียดก็คือ วิธีทำให้ทั้ง 3 ระบบของร่างกายได้ผ่อนคลายเช่น ออกกำลังกาย ฝึกการหายใจเข้า-ออกลึกๆช้าๆ โยคะ ปลูกต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ ทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ พูดคุยกับเพื่อน เป็นต้น ซึ่งหากอยู่ในขณะทำงานควรหาเวลาซัก 5 นาทีในการผ่อนคลายตนเอง จะทำให้ความเครียดไม่ก่อตัวรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคได้
หากใครมีความสามารถในการจัดการกับความคิดตนเอง หรือฝึกเจริญสติตนเองได้ในระ หว่างทำงาน ก็จะทำให้ความเครียดบรรเทาเบาบางลงได้มาก
หลายคนสามารถจัดการความเครียดได้ด้วยตนเอง หรือมีบุคคลรอบข้างพูดคุยผ่อนคลายได้บ้างก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ก็ได้ ส่วนคนที่เครียดจนรบกวนชีวิตประจำวันของตนเองและผู้ อื่นทั้งด้านการทำงาน การเรียน และการใช้ชีวิต ควรพบจิตแพทย์เพื่อรับการช่วยเหลือ
กรณีเกิดความเครียดที่รุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเองกล่าวคือ จนกลายเป็นภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ควรไปพบแพทย์/จิตแพทย์
- การรักษาโรคซึมเศร้า
เมื่อมาพบแพทย์มีวิธีรักษาหลายๆวิธีร่วมกันดังต่อไปนี้
- รักษาอาการทางกายให้สงบ: เช่น โรคกระเพาะอาการ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการรักษาปลายเหตุแต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำก่อน
- แพทย์จะพูดคุยสัมภาษณ์ประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจสภาพจิต เพื่อวินิจฉัยทางการ แพทย์และหาเหตุของปัญหา
- การให้ยา ในกรณีที่บางคนมีปัญหาภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าร่วมกับมีอาการนอนไม่หลับ หรือมีอาการทางจิตอื่นๆที่แพทย์พิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ยา
- การให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหา โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับการปรึกษา ใช้เทคนิคการสื่อสาร ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา การรู้จักใช้ศักยภาพของตนเองในการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
- จิตบำบัด: ซึ่งต้องได้รับการบำบัดโดยจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาบำบัดที่โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ในกรณีที่เครียดเรื้อรังจนเกิดภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า เพื่อผ่อนคลายความเครียดและอาการต่างๆรวมถึงการแก้ไขปัญหาชีวิตให้สำเร็จและมีการปรับตัวให้เข้ากับบุคคลอื่นได้ดีโดยในการบำบัด ผู้บำบัดจะพูดคุยเพียงลำพังกับผู้ที่ซึมเศร้าครั้งละประมาณ 45 นาที 8 - 12 ครั้ง ซึ่งจะมีการร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกปัญหานั้นๆร่วมกันเพื่อไม่กลับไปเกิดความรู้สึกหรือความคิดที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้าได้อีก
- จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเช่น จัดโต๊ะทำงานให้ผ่อนคลายได้ ทำงานพอเหมาะไม่หนักมากเกินไป ให้มีเวลาผ่อนคลายระหว่างทำงาน