มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
รศ.ดร.ธีรพร ชินชัย
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ มศว
มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ตรวจพบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีอัตราการตรวจพบโรคมะเร็งชนิดนี้ในผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 9,999 รายใน 1 ปี (1) มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Human Papillomavirus (HPV) โดยสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสนี้ได้ใน 99.7% ของผู้ป่วยมะเร็ง ไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อที่ทนทานต่อความร้อนและความแห้งได้ดี ติดต่อโดยการสัมผัส ส่วนใหญ่เป็นการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ที่ทำให้มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ เชื้อไวรัสจะเข้าไปที่ปากมดลูกทำให้ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์และเนื้อเยื่อจนกลายเป็นมะเร็งขึ้นได้ โดยระยะเวลาในการเกิดเป็นมะเร็งนั้นจะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี
ไวรัส HPV มีอยู่มากกว่า 100 สายพันธุ์ (genotype) แต่สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์มีประมาณ 40 สายพันธุ์ และในจำนวนนี้มีประมาณ 15 สายพันธุ์ที่คาดว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งขึ้นได้ โดยสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งก็ยังสามารถแบ่งได้อีก 2 กลุ่มคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อมะเร็ง (high-risk) และกลุ่มความเสี่ยงต่ำในการก่อมะเร็ง (low-risk) ซึ่งกลุ่มนี้จะทำให้เกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ
การลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกทำได้โดยวิธีการตรวจกรองที่เรียกว่าแพปสเมียร์ (Pap smear) เป็นการตรวจที่ทำควบคู่ไปกับการตรวจภายในของผู้หญิง โดยผู้หญิงทุกคนควรเริ่มทำการตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป วิธีการตรวจนี้สามารถลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% ปัจจุบันมีการผลิตวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกขึ้น โดยวัคซีนนั้นมี 2 ชนิด ชนิดแรกเป็น bivalent สร้างจากเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งสายพันธุ์ดังกล่าวจัดเป็นสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงในการก่อมะเร็ง ชนิดที่ 2 เป็น tetravalent สร้างจากเชื้อ HPV 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16 และ 18 โดยสายพันธุ์ 6 และ 11 ใช้ในการป้องกันหูดหงอนไก่
จากผลการศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์ของเชื้อ HPV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทย (2) พบว่าหญิงไทยที่เป็นมะเร็งปากมดลูก 155 คนติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ต่างๆเรียงจากมากไปน้อย 5 อันดับแรกคือ สายพันธุ์ 16 (51%) , สายพันธุ์ 18 (20%), สายพันธุ์ 52 (10.3%), สายพันธุ์ 58 (5.8%) และสายพันธุ์ 33 (4.5%) ถ้าพิจารณาการที่จะนำวัคซีนที่มีอยู่มาใช้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในประชากรไทยอาจจะประสบผลสำเร็จเพียง 70% เท่านั้น และความจริงอีกข้อที่ควรนำมาพิจารณาก็คือสายพันธุ์ของ HPV แต่ละแหล่งทั่วโลกก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นในอนาคตถ้าจะนำวัคซีนมาใช้ในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกควรจะมีการเพิ่มสายพันธุ์ของ HPV ที่เป็นสาเหตุของการก่อมะเร็งปากมดลูกในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ครอบคลุมการติดเชื้อ HPV ในประชากรทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. WHO.2010. WHO/ICO Information Centre on HPV and Cervical Cancer (HPV Information Centre). Human Papillomavirus and Related Cancers in Thailand. Summary Report 2010.
2. Chinchai T, Chansaenroj J, Swangvaree S, Junyangdikul P, Poovorawan Y. Prevalence of Human Papillomavirus Genotypes in Cervical Cancer. Int J Gynecol Cancer 2012;22:1063-1068.