Font Size

SCREEN

Profile

Layout

Direction

Menu Style

Cpanel

หลักสูตร

    ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ได้กำหนดวัตถุประสงค์รายวิชาให้สอดคล้องตามหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์และอิงเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา ดังนี้

วช 201 เวชศาสตร์ชุมชน 1 (CM 201 Community Medicine I) 1(1-0)

    ศึกษาถึงจุดมุ่งหมาย และความสำคัญของวิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมที่มีต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศความสัมพันธ์ของมนุษยนิเวศวิทยา และประชากรศาสตร์กับระบบสาธารณสุข รู้จักปัญหา สาเหตุปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย ตลอดจนสามารถปฏิบัติวิชาชีพ ตามกฎหมายได้

วช 281 เวชศาสตร์ชุมชนภาคปฏิบัติ 1 (CM 281 Fieldwork in Community Medicine I) 2(0-6)

     ปฏิบัติการศึกษาสภาพชีวิตในระดับหมู่บ้าน หรือตำบลเพื่อให้รู้จักสังคมวิทยา การปกครองขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน อันเป็นแนวทางในการเตรียมนิสิตแพทย์ในการศึกษางานสาธารณสุขชั้นปีการศึกษาต่อไป    

วช 301 เวชศาสตร์ชุมชน 2 (CM301 Community Medicine II) 2(2-0)

      ศึกษาความรู้พื้นฐานทางชีวสถิติ การใช้หลักระบาดวิทยาในการวิเคราะห์ปัญหา ศึกษาถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเช่น สุขาภิบาล จิตตสาธารณสุข ทันตสาธารณ-สุข ที่มีผลต่ออนามัยชุมชน หลักการวินิจฉัย การวางแผน และวิธีการประเมินผลอนามัยชุมชน 

 วช 302 เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม 1 (CM 302 Preventive and Social Medicine I)

     ศึกษาถึงสถิติชีพที่สำคัญในประเทศไทย การใช้หลักระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์ และการประยุกต์ใช้การสาธารณสุขมูลฐาน อนามัยแม่ และเด็กโภชนาการ การเกิดปัญหาสาธารณสุขในชุมชนรวมทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาอนามัยในชุมชนเหล่านั้น 

วช 381 เวชศาสตร์ชุมชนภาคปฏิบัติ 2 (CM381 Fieldwork in Community Medicine II) 2(0-6)

     ศึกษาปัญหาอนามัยชุมชนแออัด และชุมชนในเขตเมืองในแนวกว้างในงานด้านส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคการฟื้นฟูสภาพและรักษาโรคขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลชั้นต้นในเขตเมือง (ศูนย์บริการสาธารณสุขสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร) 

วช 382 เวชศาสตร์ป้องกันและสังคมภาคปฏิบัติ 1 (CM382 Fieldwork in Preventive and Social Medicine I) 1(0-3)

     ศึกษาดูงานด้านสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อมในสภาพต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมขนาดกลาง โรงกรองน้ำ โรงกำจัดน้ำเสียสำนักงานปฏิรูประบบ สาธารณสุข และงานระบาดวิทยา 

วช 401 เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม 2 (CM401 Preventive and Social Medicine II) 2(2-0)

     ศึกษาวิธีการดำเนินการวางแผนป้องกันควบคุมโรคติดต่อ และโรคเอดส์ระเบียบวิธีวิจัยทางการแพทย์ การคัดกรองการสาธารณสุขมูลฐาน อาชีวเวชศาสตร์ พิษวิทยา การบริหารงานสาธารณสุขเบื้องต้น ตลอดจนการสนับสนุนการสาธารณ สุขมูลฐาน และงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 

วช 481 เวชศาสตร์ชุมชนภาคปฏิบัติ 3 (CM 481 Fieldwork in Community Medicine III) 3(0-9)

     ศึกษาวิธีวินิจฉัยชุมชน ฝึกการทำงานเป็นทีมและการอยู่ร่วมกันในชุมชนตลอดการฝึกกับนิสิตจากสหสาขาวิชาทางด้านสาธารณสุข ฝึกการสร้างสัมพันธภาพกับชุมชน การสร้างแบบสอบถามเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาที่มีอยู่ การสัมภาษณ์เจาะลึกเพื่อหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้เพื่อสามารถกำหนดปัญหาของชุมชนได้ ฝึกการศึกษาความต้องการของชุมชน และกระตุ้นให้ชุมชนได้ตระหนักในปัญหาต่าง ๆ ฝึกการสร้างพลังในชุมชน (Empowerment) ในการวางแผนแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุข และกำหนดแผนการแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน ตลอดจนฝึกการเก็บข้อมูลทางสังคมวิทยาการแพทย์เพื่อทราบสถานการณ์ความเข้มแข็งของชุมชน

วช. 501 เวชศาสตร์ชุมชน 4 (CM 501 Community Medicine IV) 1(1-0)

     ศึกษาวิธีการดำเนินงานการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในชุมชนให้ได้ครอบคลุม และทั่วถึงการบริการสาธารณสุขแบบผสมผสาน กระบวนการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุข มีความรู้เกี่ยวกับโรคหรือการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพ และจากสารพิษต่าง ๆ รวมทั้งแนวทางการป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟูสภาพ

วช. 511 เวชศาสตร์ป้องกันและสังคมภาคปฏิบัติ (CM 511 Fieldwork in Preventive and Social Medicine) 2(0-6)

     ศึกษากระบวนการวิจัยทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับการส่งเสริม  ป้องกัน  และประเมินปัญหาสาธารณสุขทั้งระดับบุคคล  ครอบครัว  และชุมชน เพื่อให้สามารถรวบรวมข้อมูลและประเมินปัญหาทางสาธารณสุขของบุคคล  ครอบครัว  และชุมชนในความรับผิดชอบตามวิธีการทางระบาดวิทยา และสามารถทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทางสาธารณสุขตามขั้นตอน ได้แก่ การตั้งสมมติฐาน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนรายงานและการนำเสนอ

วช. 681 เวชศาสตร์ชุมชนภาคปฏิบัติ 4 (CM 681 Fieldwork in Community Medicine IV) 6(0-18)

     ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลชุมชน ฝึกอบรมและเสริมทักษะทางด้านการบริการผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน ศึกษาการบริหารจัดการงานด้านสาธารณสุขที่โรงพยาบาลชุมชนดำเนินการอยู่ ศึกษาการเป็นผู้นำสุขศึกษาแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป วิธีการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐาน ตลอดจนการส่งเสริมเจตคติ ค่านิยม จรรยาบรรณ และมารยาทแห่งการประกอบวิชาชีพ

 

 

                   ประวัติความเป็นมา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมก่อตั้งขึ้นพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปี พ.ศ. 2529 ในรัฐบาลของ พณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ตามกระแสสังคมที่ต้องการให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์เน้นพื้นที่จริงให้มาก ซึ่งแพทยสภาได้กำหนดหน่วยกิจของภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมให้มีมากถึง 24 หน่วย (โรงเรียนแพทย์อื่น ๆ ในขณะนั้นมีจำนวนหน่วยกิจประมาณ 9–12 หน่วย) จึงอนุมัติให้มีการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งนี้ในกรุงเทพมหานครได้ โดยเริ่มแรกมีสำนักงานอยู่ที่ตึกมหาวชิราวุธ วชิรพยาบาล ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคมเริ่มมีนิสิตชั้นปีที่ 2 ออกภาคสนามครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2530 ที่อำเภอปราณบุรี ร่วมกับภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอีก 3 ปีต่อมาออกภาคสนามที่ จ.นครนายก (อ.ปากพลี), จ.เลย (อ.นาแห้ว) และ จ.เพชรบูรณ์ ตามลำดับ หลังจากนั้นออกภาคสนามเพียงคณะเดียวโดยเริ่มที่ จ.ตาก ปีต่อมาออกที่ จ.อยุธยา จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2546 ได้ย้ายสำนักงานของภาควิชามาปฏิบัติงานที่ชั้น 7 อาคารศูนย์การแพทย์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ถนนรังสิต-นครนายก ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ภาควิชามีความมุ่งมั่นที่จะจัดการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ผลิตบัณฑิตแพทย์ให้มีความรู้คู่คุณธรรมและมีจริยธรรม สามารถทำงานทางด้านสาธารณสุขในชุมชนได้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการค้นคว้า วิจัย อย่างต่อเนื่องให้ได้คุณภาพและมีมาตรฐานในระดับสากล มีหัวหน้าภาควิชา ฯ จนถึงปัจจุบันดังนี้

1.พญ.นภาพิณ โอภาสานนท์ ตำแหน่ง นายแพทย์ผู้ชำนาญการพิเศษทางอายุรกรรมระดับ 7 ในปี พ.ศ. 2529 – พ.ศ. 2533

2.รศ.นพ.วันชัย บุพพันเหรัญ รักษาราชการแทนในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา ฯ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2533 และมีคำสั่งแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชา ฯ

 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2536 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2550

3.รศ.นพ.วรพจน์ ตันติศิริวัฒน์ หัวหน้าภาควิชา ฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 จนกระทั่งปัจจุบัน