
จอประสาทตาเสื่อม
จุดภาพชัด (Macula) เป็นจุดที่อยู่ตรงกลางของจอตา (Retina) ซึ่งมีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (Cones) จำนวนมาก จึงทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน แต่ในผู้สูงอายุอาจเกิดภาวะเสื่อมของจุดภาพชัดนี้ได้ ซึ่งจะทำให้สายตาพิการอย่างถาวร
โรคจุดภาพชัดเสื่อมตามวัย, โรคศูนย์กลางจอประสาทตาเสื่อม หรือที่มักเรียกว่า “โรคจอประสาทตาเสื่อม” หรือ “โรคจอตาเสื่อม” (Aged-related macular degeneration - AMD) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของจอประสาทตาในบริเวณจุดภาพชัด (Macula) เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยมีสายตาเลือนรางหรือตาบอด โดยเฉพาะตรงกลางของภาพ (แต่ยังคงมองเห็นขอบด้านข้างของภาพได้ปกติ) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาขึ้นอย่างช้า ๆ จนแทบไม่ทันสังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติ ในขณะที่บางรายอาจเกิดการเสื่อมของจอประสาทตาอย่างรวดเร็วก็ได้
โรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD) เป็นโรคที่เริ่มพบได้ในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี และพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ในปัจจุบันประชากรโลกมีอายุเพิ่มขึ้น จึงพบว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการประเมินว่า โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้มากกว่าครึ่ง (54%) และคาดการณ์ว่ามีความชุกของโรคนี้อยู่ที่ประมาณ 1.2-1.8% ในประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
IMAGE SOURCE : nuasupplements.com
ชนิดของจอประสาทตาเสื่อม
โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดแห้ง (Dry) และชนิดเปียก (Wet)
- โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง (Dry AMD หรือ Early AMD) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดในขั้นเริ่มต้นหรือขั้นปานกลาง ซึ่งจะพบได้ประมาณ 85-90% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาการมักจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงทำให้ความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยลดลงอย่างช้า ๆ โดยพบว่าเกิดจากการเสื่อมสลายและบางลงของจุดภาพชัด (Macula) จากกระบวนการเสื่อมตามอายุ โดยไม่มีรอยแผลเป็นหรือมีเลือดออก
- โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD หรือ Late AMD) เป็นชนิดที่พบได้น้อยกว่าชนิดแห้งมาก คือ พบได้ประมาณ 10-15% และมีความรุนแรงน้อยกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีจอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้งนำมาก่อน อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรุนแรง ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดได้ โดยพบว่าเกิดจากการที่เซลล์จอประสาทตาเสื่อม บางลง และมีหลอดเลือดผิดปกติที่งอกขึ้นใหม่ในผนังลูกตาชั้นกลาง (ชั้นเนื้อเยื่อคอรอยด์) บริเวณใต้จุดภาพชัด ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะมีความเปราะบางและแตก/รั่วซึมได้ง่าย เมื่อเกิดการแตกหรือรั่วซึมจึงทำให้มีเลือดและของเหลวค้างอยู่ใต้จอประสาทตา ทำให้จุดภาพชัดบวมและเกิดการทำลายจอประสาทตาอย่างรวดเร็ว และการทำลายนี้อาจทำให้เกิดแผลเป็นที่จอประสาทตาได้ด้วย
IMAGE SOURCE : www.drgirjesh.com
สาเหตุของโรคจอประสาทตาเสื่อม
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากความเสื่อมของเซลล์จอประสาทตามีการบางตัวลงของเซลล์ มีการสะสมของเสียจากเซลล์จอประสาทตา จึงทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์รับภาพมากขึ้น และจากการที่มักพบโรคนี้ได้ในผู้สูงอายุ จึงทำให้เชื่อว่าเป็นกระบวนการเสื่อมสภาพของร่างกาย (Aging Process) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายภาวะที่จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่
- อายุ เพราะมักพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50-60 ปีขึ้นไป (อายุยิ่งมากยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น)
- กรรมพันธุ์/พันธุกรรม เพราะพบว่าในฝาแฝดจะเกิดโรคนี้ได้เหมือน ๆ กัน และพบว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีประวัติที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน (จากการวิจัยล่าสุดสามารถค้นพบยีนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคจอประสาทตาเสื่อม ดึงนั้นจึงมีคำแนะนำให้ผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของผู้ที่เป็นโรคกับญาติสายตรงไปรับการตรวจเช็กจอประสาทตาทุก 2 ปี)
- เชื้อชาติ เพราะพบอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้มากที่สุดในคนผิวขาว (Caucasian)
- เพศหญิง เพราะมักพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมถึงโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาลดความดันโลหิต และมีระดับของไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและระดับแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ในเลือดต่ำ จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet Dry)
- โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจทำให้โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นมากขึ้น
- วัยหมดประจำเดือน หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น (มีหลักฐานพบว่า ฮอร์โมนเอสโตรเจนน่าจะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นในผู้หญิงวัยขาดฮอร์โมนนี้จึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้บ่อยกว่า)
- สายตาสั้นมาก ๆ (Pathologic myopia) แต่บางข้อมูลก็ระบุว่า ผู้ที่มีสายตายาว (Hyperopia) จะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่มีสายตาปกติหรือมีสายตาสั้น
- ม่านตาสีอ่อน (Light iris coloration)
- ตาได้รับแสงแดดอย่างเรื้อรัง
- การสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพราะสารพิษในควันบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ประจอสาทตาได้โดยตรง และก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดแข็ง ซึ่งรวมทั้งหลอดเลือดจอประสาทตา นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการวิจัยพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 6 เท่า และการสูบบุหรี่ยังมีโอกาสทำให้เกิดโรคนี้ได้เร็วกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติมีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ร่วมด้วยจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่า
- การดื่มสุรา
- ขาดอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ และอาจขาดสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin)
อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม
อาการและอาการแสดงของโรคนี้อาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย และเป็นเรื่องยากที่ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นถึงความผิดปกติในการมองเห็นได้ด้วยตัวเองในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดีอยู่ ผู้ป่วยก็อาจไม่ทันได้สังเกตเห็นถึงความผิดปกติกับตาอีกข้างไปหลายปีก็ได้ แต่ในรายที่จอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงความผิดปกติในการมองเห็นได้อย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัดหรือมืดดำไป มองเห็นภาพบิดเบี้ยว เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ “ผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-64 ปี ที่ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา/จอประสาทตาทุก 2-4 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1-2 ปี แม้จะไม่พบอาการผิดปกติอะไรก็ตาม” เนื่องจากการที่ผู้ป่วยจะรู้ถึงความผิดปกติในระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกันการตรวจพบและให้การรักษาในระยะแรกเริ่มก็เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะจอประสาทตาที่เสื่อมไปแล้วมีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ การรักษาหลักในปัจุบันทำได้เพียงแค่หยุดหรือชะลอการเสื่อมของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด และอาจรักษาไม่ได้เลยถ้าเป็นรุนแรง
สำหรับอาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมที่อาจพบได้ คือ
- ในระยะแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติหรือผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น และจักษุแพทย์มักตรวจพบการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของจอประสาทตาได้โดยบังเอิญ เช่น จากการตรวจสุขภาพตาเพื่อวัดสายตา การตรวจสุขภาพตาประจำปี
- มองเห็นภาพไม่ชัดหรือตามัวลงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกลางของภาพ ซึ่งผู้ป่วยอาจมองเห็นได้ไม่ชัด มองเห็นเป็นเงาดำ ๆ บังอยู่ตรงกลางภาพ หรือมองไม่เห็น จึงทำให้ผู้ป่วยมองภาพ อ่านหนังสือ ขับรถ จำหน้าคน หรือทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดได้ยากกว่าปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการเดินทางได้ จึงควรระวังในการเดินทางและควรมีคนคอยช่วยดูแลอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม โรคนี้จะทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะตรงกลางของภาพเท่านั้น โดยที่ภาพด้านข้างหรือตรงขอบยังมองเห็นได้ดีอยู่ (เกิดความผิดปกติของการมองเห็นตรงส่วนกลางของลานตา แต่ไม่กระทบต่อลานสายตาส่วนรอบนอก) เช่น ผู้ป่วยอาจมองเห็นตัวคน แต่ส่วนของใบหน้าจะเบลอมองเห็นได้ไม่ชัด หรือมองเห็นเฉพาะขอบของนาฬิกา แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาอะไร ดังนั้น โดยตัวของโรคจอประสาทตาเสื่อมแล้วจะไม่ทำให้การมองเห็นมืดสนิทไปหมด แม้แต่ในรายที่เป็นมากก็ตาม ผู้ป่วยจึงยังพอมองเห็นภาพทางด้านขอบข้างของภาพ และพอที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้บ้าง
- มองเห็นภาพบิดเบี้ยว (จะเห็นภาพบิดเบี้ยวชัดเจนมากขึ้นเมื่อมองภาพในระยะใกล้ ๆ) มองเห็นเส้นตรงเป็นคลื่นหรือเป็นเส้นคด มองเห็นป้ายสัญญาณจราจรผิดเพี้ยนไป มองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นขาด มองเห็นลดลงไม่ตรงกลางเส้น
- สายตาไม่ดีเมื่ออยู่ในที่สลัว เวลาอ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต หรือต้องมองใกล้ ๆ จำเป็นต้องอาศัยแสงสว่างมากขึ้น
- มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน (สีจางหรือมืดมัวกว่าปกติ) มองเห็นสีผิดเพี้ยนไป เนื่องจากบริเวณจุดรับภาพชัดมีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (Cones) อยู่หนาแน่น
- มองเห็นขนาดภาพเปลี่ยนไป เห็นวัตถุมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ หรืออยู่ห่างกว่าปกติ
- ตามัวลงอย่างฉับพลัน มักพบในผู้ป่วยที่มีเลือดออกเข้าสู่น้ำวุ้นลูกตาและใต้จอประสาทตา หรือเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมที่รุนแรงแล้ว
- อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นที่ตาข้างหนึ่งก่อน ซึ่งผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตหรือไม่รู้สึกว่าผิดปกติ เนื่องจากตาอีกข้างหนึ่งยังดีอยู่ ต่อมาเมื่อเป็นทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยจึงจะสังเกตเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน