ปัจจุบันการเจ็บป่วยจากภาวะเครียดในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่พบได้บ่อย สามารถแสดงอาการได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ยังมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์อีกชนิดหนึ่งที่พบได้ไม่ยากนัก โดยที่ผู้คนในสังคมจำนวนมากยังไม่รู้จักหรือคุ้นเคย แม้แต่คนที่ป่วยเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วยและไม่ยอมรับ ทำให้ขาดการดูแลรักษาที่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหา หรือความเสียหายได้มากมาย ทั้งกับตนเอง และความทุกข์ใจแก่คนในครอบครัวหรือคนรอบข้างได้ โรคที่กำลังกล่าวถึงนี้ ก็คือ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) หรือ โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว การมีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ช่วยให้สามารถเข้าใจและให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีอาการได้อย่างถูกวิธี รวมทั้งสามารถป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากอาการของโรคนี้ได้
ไบโพลาร์คืออะไร
โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของอารมณ์เป็นหลัก มีอาการแสดงออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอาการแมเนีย (Mania) คือ อารมณ์ดี หรือคึกคัก สนุกสนาน และกลุ่มอาการซึมเศร้า (Depress) จึงเรียกโรคนี้ว่า โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (ขั้วบวก = แมเนีย และ ขั้วลบ = ซึมเศร้า)
โดยปกติคนเราในแต่ละวัน มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในระดับหนึ่งแล้วกลับมาเป็นปกติ ดำเนินชีวิต รับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว สังคมได้ แต่คนที่มีอารมณ์ผิดปกติ คือ เกิดอารมณ์บวกหรืออารมณ์ลบเป็นเวลา 1 – 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่สามารถกลับเข้าสู่อารมณ์ปกติได้ จนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
ลักษณะอาการ
กลุ่มอาการแมเนีย เป็นช่วงเวลาที่อารมณดี ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่ พูดมาก พูดเร็ว พูดไม่ยอมหยุด ความคิด พรั่งพรู มีโครงการมากมายเป็นร้อยเป็นพันล้าน รู้สึกว่าตนเองเก่ง มีความสามารถมาก มีความสำคัญมาก ความมั่นใจในตนเองสูง เรี่ยวแรงเพิ่ม นอนน้อยกว่าปกติ บางรายนอนเพียงวันละ 1 – 2 ชั่วโมงเท่านั้น โดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย สมาธิไม่ดี วอกแวก สนใจไปทุกสิ่งทุกอย่าง หุนหันพลันแล่น การตัดสินใจไม่เหมาะสม เช่น ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย ซื้อของแพง มากมายเกินจำเป็น ซื้อทีละเยอะๆ แจกคน เล่นการพนัน ก่อหนี้สินมากมาย ทำเรื่องเสี่ยงอันตราย ผิดกฎหมาย ชอบเที่ยวกลางคืน ความต้องการทางเพศสูง มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม บางคนหงุดหงิดก้าวร้าวได้ง่ายเมื่อถูกขัดใจ คนที่มีอาการแมเนียจะไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ คิดว่าช่วงนี้ตนเองอารมณ์ดี สบายใจ รู้สึกขยัน อยากทำงาน มักปฏิเสธการรักษา ซึ่งอาการเกิดขึ้นตลอดเวลาเกือบทั้งวัน ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์