ทำความรู้จักกับอาการและอาการแสดงของโรควิตกกังวล
ทุกคนสามารถมีอาการวิตกกังวลได้เป็นบางครั้ง เพราะความรู้สึกนี้เป็นการตอบสนองชองร่างกายตามธรรมชาติต่อความเครียด ในขณะที่โรควิตกกังวลนั้นเกิดเมื่อความรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจอย่างรุนแรงนั้นมีมากและเป็นอยู่นาน จนทำให้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น ไปทำงานหรือไปหาครอบครัวและเพื่อนได้
อาการของโรควิตกกังวล
โรควิตกกังวลเป็นกลุ่มของโรคที่มีอาการเกี่ยวข้องกัน โดยแต่ละประเภทจะมีอาการเด่นที่แตกต่างกันออกไป โรคในกลุ่มนี้มักได้รับการวินิจฉัยเมื่อพบว่าความกลัวต่อเหตุการณ์ สถานที่ หรือสิ่งของที่ไม่ได้ทำให้เป็นอันตรายนั้น รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนั้นยังสามารถวินิจฉัยได้หากคุณมีความรู้สึกกลัวหรือกังวลที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ป่วยโรควิตกกังวลส่วนใหญ่มักมีอาการทั้งทางกายและทางจิตร่วมกัน โดยมีอาการกลัวเกี่ยวกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเป็นอาการที่สามารถพบได้ร่วมกันในโรควิตกกังวลทุกประเภท
อาการทางจิตอื่นๆ ประกอบด้วย
- ความรู้สึกหวาดหวั่นหรือกลัว
- ความรู้สึกกระสับกระส่ายหรืออยู่ไม่สุข
- ความรู้สึกเครียดและชวนให้ตกใจ
- มองหาสัญญาณของอันตรายตลอดเวลา
อาการทางกาย ประกอบด้วย
- หัวใจเต้นเร็วหรือแรง
- หายใจลำบาก
- เหงื่อออกมาก
- มีอาการสั่น
- ปวดหัว
- อ่อนเพลียหรืออ่อนแรง
- นอนไม่หลับ
- คลื่นไส้หรือท้องไส้ปั่นป่วน
- ปัสสาวะหรือท้องเสียบ่อย
อาการวิตกกังวลกำเริบคืออะไร?
อาการวิตกกังวลกำเริบหรือหวาดระแวงกำเริบเกิดเมื่อมีความรู้สึกกลัวอย่างฉับพลัน อาการหวาดระแวงกำเริบนี้มักคงอยู่ได้หลายนาทีจนถึงครึ่งชั่วโมง สถานที่หรือสถานการณ์บางอย่างสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ในบางคน และอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อนก็ได้ การมีอาการวิตกกังวลกำเริบบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคหวาดระแวง โดยเมื่อมีอาการกำเริบมักจะต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 ข้อ ประกอบด้วย
- ใจสั่น (หัวใจเต้นแรงและเร็ว)
- เหงื่อออก
- มีอาการสั่น
- เจ็บหน้าอกหรือไม่สบายในอก
- หายใจลำบาก
- รู้สึกเหมือนจะเป็นลม
- มีอาการชาโดยเฉพาะที่มือ
- รู้สึกร้อนหรือหนาวสั่น
- รู้สึกเวียนหัว มึนหัว หรือโคลงเคลง
- คลื่นไส้ หรือท้องไส้ปั่นป่วน
- รู้สึกเหมือนกำลังจะหลุดออกจากร่าง
- รู้สึกสูญเสียการควบคุมหรือกำลังจะเป็นบ้า
- กลัวความตาย
การวินิจฉัยโรควิตกกังวล
แพทย์หรือพยาบาลจะทำการถามคำถามเกี่ยวกับอาการที่คุณมีอาการทางกายบางอย่างของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคทางกายบางโรค เช่น โรคหัวใจหรือโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง แพทย์จึงอาจทำการตรวจร่างกายและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคทางกายเหล่านี้ออกไปก่อน หากไม่พบว่ามีโรคทางกาย แพทย์ของคุณอาจส่งต่อให้พบกับผู้เชี่ยวชาญทางจิตใจ (จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา) เพื่อทำการวินิจฉัย ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะทำการระบุประเภทของโรควิตกกังวลที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว นอกจากนั้นยังจะมองหาโรคทางจิตอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกันเช่นโรคซึมเศร้า