ระวังใช้โซเชียลมีเดีย กระทบสัมพันธภาพใน”ครอบครัว”
ระวังใช้โซเชียลมีเดีย กระทบสัมพันธภาพใน”ครอบครัว”
จิตแพทย์เตือนอย่าโพสต์รูปส่วนตัวคนอื่น- ระบายอารมณ์ในโซเชียลฯ อาจกระทบสัมพันธภาพในครอบครัว
พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การใช้โซเชียลมีเดียทั่วไปในครอบครัว มักจะเป็นการแบ่งปันเรื่องราว ความรู้สึก เรื่องเล่าประสบการณ์ที่ประทับใจ มีรูปภาพที่แท็กถึงกันเวลาไปร่วมกิจกรรมภายในครอบครัว งานสังสรรค์ กิจกรรมร่วมกันของสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพที่แบ่งปันได้
แต่ควรระมัดระวังในเรื่องของการโพสต์หยอกล้อกัน หรือเผยแพร่ภาพที่เป็นส่วนตัวที่เจ้าตัวเองไม่อยากเปิดเผย ตรงนี้เป็นจุดเปราะบางที่อาจจะกลายเป็นความไม่พอใจ ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ และเกิดผลกระทบกับสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในภายหลังได้
พญ.ทิพาวรรณ กล่าวด้วยว่า ปัญหาและผลกระทบในเชิงลบที่ตามมา ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ผู้ใช้ และ การใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดย “ขาดความระมัดระวัง” ผู้ใช้ ในกรณีที่ผู้ใช้ที่เป็นเด็ก วัยรุ่น และเยาวชน การใช้สื่อโซเชียลมีเดียโดยลำพัง จะนำมาซึ่งปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ปัญหาพฤติกรรมเสพติด (เกม แชท โซเชียล), ปัญหาเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น พฤติกรรมทางเพศ, ภาษาหยาบคาย, ความรุนแรง และ ปัญหาถูกล่อลวง เป็นต้น
อีกทั้ง การใช้เวลากับโซเชียลมีเดียที่มากเกินไป ไม่ควรเกิน 2 ชม. ต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ และสำหรับเด็กและเยาวชน ไม่ควรเกิน 1 ชม.ต่อวัน มีผลเสียต่อสุขภาพกาย อาทิ สายตาสั้น, อ้วน, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเรื้อรัง และ ผลเสียต่อสุขภาพจิต อาทิ วิตกกังวล ซึมเศร้า, มีอาการเสพติด อาการอยากและอาการถอน เช่น หงุดหงิดเวลาที่ขาดสมาร์ทโฟน หรือ ต้องก้มหน้าดูโซเชียลบ่อยๆ ปัญหาเหล่านี้ถ้าเกิดในวัยเรียน วัยรุ่น ย่อมส่งผลกระทบต่อ สมาธิ ความจำ ความตั้งใจอุตสาหะพยายาม การควบคุมตนเอง และมีผลการเรียนที่แย่ลง
และส่วนที่สอง คือ ผลกระทบต่อบุคคลอื่น/และสังคม เป็นผลกระทบในวงกว้าง และสุดท้ายผลกระเทบนั้นมักจะย้อนกลับมาทำร้ายตนเองในที่สุด อาทิ การรังแกกันในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น โพสต์รูปของคนอื่นๆ โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม, การหยอกล้อ ต่อว่า ด่าทอ ประจาน สืบค้นประวัติผู้อื่นแล้วนำลงสื่อสังคมออนไลน์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และละเมิดกฎหมาย
พญ.ทิพาวรรณ กล่าวอีกว่า การใช้โซเชียลมีเดียสำหรับครอบครัว ในส่วนของเด็ก วัยรุ่น และเยาวชน ควรใช้โซเชียลมีเดียอย่างมีสติ และควบคุมตนเองได้ ต้องคิดทบทวนข้อดี - ข้อเสียอย่างรอบคอบ ระมัดระวังก่อนที่จะโพสต์แสดงความคิดเห็นลงไปในสื่อออนไลน์
สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ การเขียนระบายอารมณ์ลงในโซเชียลมีเดีย, การรังแกกันลงในโซเชียลมีเดีย และสิ่งที่ควรทำคือ ใช้เวลากับสมาร์ทโฟน แทบเบลต โน้ตบุ๊ค ให้น้อยที่สุดจะดีกว่า และใช้เวลานี้ทดแทนด้วยการทำกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์ อาทิ การอ่านตำราหนังสือ ฝึกทักษะการอ่าน - จับใจความ, การฝึกทักษะภาษา, การทำงานอดิเรก การฝึกเล่นกีฬา, การทำงานศิลปะ, การเล่นดนตรี, การท่องเที่ยวกับครอบครัว เป็นต้น
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ควรดูแลเอาใจใส่ในการใช้โซเชียลมีเดียของลูกๆ อย่างใกล้ชิด ควรคำนึงถึงความปลอดภัยจากการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก, ควรชี้แนะข้อดี - ข้อเสียด้วยเหตุผล, พูดคุยและเเลกเปลี่ยนเรื่องราว ข้อคิดเห็นของลูกๆ, รับฟังเรื่องเล่าของลูกๆ ในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ และเป็นต้นแบบที่ดีของการใช้โซเชียลมีเดียภายในบ้าน เช่น ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟนขณะรับประทานอาหาร, ขณะการเดินทาง, ควรมีกฎ กติกา มารยาทในการใช้สมาร์ทโฟนภายในบ้าน
“โซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งที่ดี เป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว ทันสมัย ถ้าใช้ให้มันเกิดประโยชน์มันก็จะเกิดประโยชน์มาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัด คือ เป็นการสื่อสารทางเดียว ซึ่งไม่สมารถคาดเดาความเข้าใจของคนอื่นได้ จึงควรระมัดระวังในจุดนี้ให้มาก “สติ และ ความยับยั้งชั่งใจในการโพสท์เป็นสิ่งที่สำคัญ คล้ายกับ การที่เราทิ้งรอยเท้าเอาไว้ให้คนคอยตาม(Digital Foot Print)ถ้าเป็นรอยเท้าที่ดีก็คงไม่มีปัญหาหรือผลกระทบอะไร แต่ถ้าเราทิ้งรอยเท้าที่ไม่ดี เราก็จะต้องตามแก้ไขปัญหาแบบไม่จบสิ้น ทางที่ดีที่สุดคือ Cyber Safety ปลอดภัยไว้ก่อน และ คิดก่อนโพสท์ทุกครั้ง” พญ.ทิพาวรรณกล่าว
ข้อมูลข่าวโดย หนังสือพิมพ์คม-ชัด-ลึกออนไลน์ ฉบับวันที 28 เมษายน 2560