การตรวจร่างกายหลังคลอด

เมื่อคุณแม่คลอดลูกเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะออกจากโรงพยาบาลหมอจะนัดให้มาตรวจหลังคลอดอีกครั้ง ในกรณีที่การคลอดผิดปกติ มีปัญหา หรือคุณแม่มีโรคบางอย่าง หมออาจนัดมาตรวจก่อน 4 สัปดาห์ก็ได้ สำหรับคุณแม่ที่คลอดปกติหรือผ่าคลอดถ้าไม่มีปัญหาอะไร หมอก็มักจะนัดมาตรวจใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด (โดยทั่วไปคุณหมอจะนัดมาตรวจเมื่อครบ 6 สัปดาห์ แต่ถ้าคุณแม่มีปัญหาในระหว่างการคลอดหมอจะนัดมาตรวจเร็วกว่านั้น เช่น ในช่วง 4 สัปดาห์หลังคลอด) ซึ่งคุณแม่ไม่ควรจะละเลยเป็นอันขาด เนื่องจากการตรวจสุขภาพหลังคลอดนั้นมีความจำเป็นและมีประโยชน์อย่างมาก เพราะจะทำให้รู้ว่าอวัยวะต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะตั้งครรภ์และตอนคลอดนั้นกลับคืนสู่สภาพปกติแล้วหรือยัง คุณแม่จะมีโรคแทรกซ้อนอะไรหรือไม่

 

ในรายที่ตรวจพบว่ามีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นขณะคลอดหรือหลังคลอดใหม่ ๆ หมอก็จะได้มาตรวจดูว่าโรคแทรกซ้อนนั้นหายแล้วหรือยัง รวมทั้งหมอจะให้คำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวรด้วยวิธีการทำหมัน (ถ้าคุณแม่ไม่ต้องการมีลูก) เพื่อมิให้คุณแม่ตั้งครรภ์เร็วเกินไป เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยที่เกิดมาแล้วเท่านั้น ยังอาจเป็นอันตรายกับลูกคนต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้ถ้าคุณแม่มีข้อสงสัยก็ขอให้เตรียมคำถามเอาไว้ได้เลยครับ โดยอาจจะถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของคุณแม่เองและคำถามเกี่ยวกับลูกน้อยก็ได้

คุณแม่บางคนอาจคิดว่าร่างกายของตนเองฟื้นตัวได้เร็ว คงไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น จึงเลือกที่จะละเลยไม่ไปตรวจสุขภาพหลังคลอด แบบนี้ไม่ควรทำครับ เพราะภายหลังการคลอดร่างกายของคุณแม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ขนาดของมดลูกที่ใหญ่ขึ้นและกลับหดตัวเล็กลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของเต้านม การมีน้ำคาวปลา รวมถึงภาวะทางด้านจิตใจของคุณแม่หลังคลอด ดังนั้นการตรวจสุขภาพหลังคลอดจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากและเป็นเรื่องที่คุณแม่ทุกคนไม่ควรละเลย

หมอจะซักถามอะไรบ้าง

คุณแม่หลังคลอดมักสงสัยว่าเมื่อกลับไปตรวจที่โรงพยาบาลหมอจะซักถามหรือตรวจอะไรบ้าง ส่วนใหญ่แล้วหมอจะถามถึงอาการผิดปกติที่พบตั้งแต่ตอนออกจากโรงพยาบาล อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการพักฟื้น เช่น แผลหายดีหรือยัง มีอาการเจ็บแผลหรือแผลเป็นหนองหรือเปล่า น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นหรือมีสีผิดปกติหรือไม่ น้ำคาวปลาหมดหรือยัง ถ่ายปัสสาวะได้เป็นปกติดีหรือมีอาการแสบขัด คุณแม่มีไข้หรือมีอาการท้องผูกหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าผิดปกติมากคุณแม่ควรรีบไปพบหมอก่อนถึงวันนัดโดยด่วน

สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีอาการผิดปกติอะไร หมอก็จะซักถามถึงอาการเจ็บป่วยของลูกน้อย รวมทั้งปัญหาการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ และพูดคุยซักถามปัญหาต่าง ๆ จนเป็นที่เข้าใจ นอกจากนี้หมอก็จะให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องของการคุมกำเนิด เพื่อให้คุณแม่ได้เลือกวิธีการคุมกำเนิดตามความเหมาะสม (ส่วนใหญ่หมอจะแนะนำให้คุมกำเนิดโดยใช้ห่วงอนามัยหรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว)

อาการหลังคลอดที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ก่อนถึงวันนัดตรวจหลังคลอด คุณแม่ควรหมั่นใส่ใจดูแลร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ หากพบว่ามีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้น คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที (หรือภายใน 12 ชั่วโมง)

  • มีอาการปวดศีรษะมาก หนาวสั่น หรือมีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีก้อนที่เต้านมหรือเต้านมบวมแดง
  • มีอาการปวดท้องมาก ปวดท้องบิด โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากอาหารการกิน
  • มีอาการเจ็บหรือแสบขัดในขณะถ่ายปัสสาวะ
  • ระดูขาวมีกลิ่นเหม็น น้ำคาวปลามีสีแดงตลอดภายใน 15 วันหลังคลอด โดยปกติแล้วหลังคลอด 3-4 วันแรก น้ำคาวปลาจะออกมาเป็นเลือดสด ๆ แต่หลังจากนี้อีก 10-14 วันจะเป็นน้ำปนเลือด มีสีน้ำตาลดำ แล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นน้ำสีขาวออกเหลืองจนหมดไปภายใน 4 สัปดาห์ ถ้าพบว่ามีน้ำคาวปลาออกมาเป็นสีผิดปกติหรือยังเป็นเลือดอยู่ก็อาจมาจาก 2 สาเหตุ คือ ยังมีเศษรกค้างอยู่ หรืออาจเกิดจากการอักเสบติดเชื้อของโพรงมดลูก
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด ภายใน 1 ชั่วโมงชุ่มผ้าอนามัย 1 แผ่น และเลือดที่ออกมามีลักษณะเป็นก้อน
  • มีหนองหรือมีเลือดไหลจากแผลฝีเย็บ หรือแผลฝีเย็บบวมแดงมากขึ้นจนมีอาการปวดถ่วงไปถึงทวารหนัก

หมอจะตรวจอะไรบ้าง

เมื่อคุณแม่เลือกวิธีการคุมกำเนิดแล้ว ในขั้นตอนต่อไปหมอก็จะตรวจร่างกายของคุณแม่ดังต่อไปนี้

  1. ชั่งน้ำหนัก หลังการคลอดประมาณ 6 สัปดาห์น้ำหนักของคุณแม่ควรลดลงประมาณ 8-12 กิโลกรัม หรือมีน้ำหนักเกินกว่าก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 กิโลกรัม ก็ถือว่ายอมรับได้ โดยขึ้นกับว่าก่อนตั้งครรภ์คุณแม่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือมากแค่ไหน ถ้าน้ำหนักยังไม่ลดลง หมอก็จะแนะนำให้คุณแม่ควบคุมอาหารและบริหารร่างกายไปด้วย
  2. ตรวจวัดความดันโลหิต ความดันโลหิตของคุณแม่ควรอยู่ในระดับปกติ คือ 80/120 มิลลิเมตรปรอท ในกรณีที่คุณแม่มีความดันโลหิตสูงในระหว่างการตั้งครรภ์หรือในขณะคลอด เมื่อกลับมาตรวจหลังคลอด ความดันโลหิตของคุณแม่ควรจะอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้ายังผิดปกติอยู่หมอก็จะได้ให้การดูแลรักษาหรือส่งไปปรึกษาอายุรแพทย์
  3. ตรวจเต้านม หมอจะตรวจดูว่าเต้านมของคุณแม่นั้นมีความผิดปกติหรือไม่ อย่างไร เช่น มีน้ำนมไหลดีหรือมีนมให้ลูกกินพอหรือไม่ เต้านมมีการอักเสบหรือเปล่า ถ้ามีอาการอักเสบก็จะได้รักษา ส่วนคุณแม่ที่มีปัญหาหัวนมบอด หัวนมแตก หมอก็จะได้แนะนำเรื่องการให้นมลูกอย่างถูกวิธี และคลำหน้าอกเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมหรือก้อนน้ำเหลือง ซึ่งคุณแม่อาจจะคลำได้ด้วยตัวเองจากที่บ้านก่อนก็ได้ หากพบว่ามีก้อนเล็ก ๆ เต้านมแข็ง มีอาการปวด ก็ขอคำแนะนำจากหมอได้
  1. ตรวจหน้าท้อง หมอจะตรวจหน้าท้องเพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้องและดูว่าผนังหน้าท้องยังหย่อนอยู่หรือไม่ คุณแม่ที่ไม่ยอมบริหารร่างกายหลังคลอด หน้าท้องก็จะหย่อนยาน ป่อง หรือไม่ยุบลง ส่วนในกรณีของคุณแม่ผ่าคลอดทางหน้าท้อง หมอก็จะตรวจดูว่าแผลหายดีแล้วหรือยัง
  2. ตรวจภายใน หมอจะตรวจภายในเพื่อดูแผลฝีเย็บ ตรวจดูผนังช่องคลอดว่าแผลที่เย็บเรียบร้อยดีหรือไม่ มีการอักเสบบริเวณช่องคลอดหรือเปล่า ถ้ามีตกขาวมากหมอก็จะตรวจดูว่าความผิดปกตินี้เกิดจากอะไร ตรวจดูว่าปากมดลูกปิดหรือไม่ มีแผลหรือไม่ ซึ่งหลังคลอดอาจจะมีแผลเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ในขณะเดียวกันหมอจะตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ด้วย นอกจากนี้ก็จะตรวจดูขนาดของมดลูกด้วยว่ากลับสู่สภาพปกติแล้วหรือยัง (คือมีขนาดเล็กลงใกล้เคียงก่อนการตั้งครรภ์) ถ้ายังและมีขนาดโตกว่าปกติมาก หมอจะตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร รวมทั้งตรวจดูตรงตำแหน่งของปีกมดลูกคือ ท่อนำไข่และรังไข่ ว่ามีก้อนเนื้อหรือความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์อาจตรวจไม่พบเพราะมดลูกขยายใหญ่จนกลบเนื้องอก แต่เมื่อมดลูกเป็นปกติแล้วก็จะสามารถตรวจพบได้
    • แผลคลอด โดยปกติแล้วแผลคลอดไม่ว่าจะเป็นคลอดปกติหรือผ่าคลอดก็มักจะหายภายใน 1 สัปดาห์หลังคลอด ส่วนอาการปวดแผลหลังคลอดจะปวดอยู่ประมาณ 3-4 วัน หรืออย่างมากไม่เกิน 1 อาทิตย์ และอาการปวดจะค่อย ๆ ทุเลาลง หากมีอาการปวดคุณแม่สามารถกินยาแก้ปวดได้ (เฉพาะยาพาราเซตามอล) ส่วนแผลผ่าตัดจะติดสนิทภายใน 1 สัปดาห์ ไม่มีการบวมหรือมีเลือดไหลซึมออกมาจากแผล แต่จะใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนกว่าแผลจะหายดี คุณแม่ผ่าคลอดจึงต้องหมั่นดูแลความสะอาดไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
    • มดลูกเข้าอู่ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์มดลูกจะขยายตัวขึ้นมาก หลังการคลอดหมอจะตรวจดูว่ามดลูกหดตัวแล้วหรือยัง ซึ่งส่วนใหญ่มดลูกจะเข้าอู่ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เมื่อไปตรวจหมอจะใช้นิ้วสอดเข้าไปภายในช่องคลอด และใช้อีกมือคลำบริเวณหน้าท้อง หากพบว่ามีก้อนที่หน้าท้องแสดงว่ามดลูกเข้าอู่ช้า ซึ่งถ้าอยากให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ๆ การบริหารร่างกายและการให้ลูกดูดนมแม่ก็จะช่วยได้มากครับ
      การตรวจร่างกายหลังคลอดhttps://medthai.com/wp-content/uploads/2016/02/การตรวจร่างกายหลังคลอด-350x233.jpg 350w" sizes="(max-width: 570px) 100vw, 570px" style="box-sizing: inherit; height: auto; max-width: 100%; clear: both; display: block; margin: 0.5em auto 1em;">
  3. ตรวจอาการผิดปกติ นอกจากการตรวจร่างกายและตรวจภายในหลังคลอดแล้ว หมอจะตรวจโรคที่เป็นในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วยว่าหายเป็นปกติแล้วหรือยัง (เพราะบางโรคจะเป็นเฉพาะตอนตั้งครรภ์ เมื่อหลังคลอดเสร็จร่างกายจะกลับเข้าสู่สภาพปกติ) รวมถึงโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หมอก็จะตรวจดูอาการของโรคเหล่านี้ให้ด้วยเช่นกัน
    • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาการเบาหวานที่พบในช่วงตั้งครรภ์จะมีอยู่ 2 กรณี คือ คุณแม่เป็นโรคเบาหวานอยู่ก่อนตั้งครรภ์ หรือเพิ่งมาเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเบาหวานในขณะตั้งครรภ์นี้มักจะพบในคุณแม่ที่อ้วนมาก น้ำหนักตัวขึ้นเร็ว มีไขมันมาก จึงทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง แต่เมื่อคลอดแล้วระดับน้ำตาลในเลือดจะกลับคืนสู่ระดับปกติ หมอก็จะเช็กดูว่าระดับน้ำตาลในเลือดลงมาอยู่ในระดับปกติต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อ 100 ซี.ซี. แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ลงก็อาจจะเป็นไปได้ว่าคุณแม่เป็นเบาหวาน แต่ก่อนการตรวจเบาหวานนี้ คุณแม่ควรกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ และในวันนัดตรวจก็ต้องงดอาหาร ซึ่งในการตรวจหมอจะเจาะเลือดมาตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 4 ครั้ง หากงดมาก่อนก็จะสามารถตรวจระดับน้ำตาลได้เลย แต่ถ้าไม่งด หมอก็จะนัดให้มาตรวจทีหลังครับ
    • ครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คือคุณแม่จะมีความดันโลหิตสูง มีไข่ขาวในปัสสาวะ บวม แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 2-4 สัปดาห์หลังคลอด (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ) ดังนั้น หากยังมีอาการครรภ์เป็นพิษอยู่ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หมอจะนัดตรวจเพื่อดูความดันโลหิตว่าสูงอยู่หรือมีไข่ขาวในปัสสาวะหรือไม่ รวมไปถึงตรวจการทำงานของไต เพราะภาวะครรภ์เป็นพิษนี้จะทำให้ไตทำงานได้ไม่ดี ปล่อยให้ไข่ขาวหลุดมาในปัสสาวะได้ และถ้าตรวจพบว่ายังมีไข่ขาวในปัสสาวะอยู่ก็แสดงว่าอาจมีโรคไตแทรกอยู่ คุณแม่ที่มีภาวะดังกล่าวจึงไม่ควรละเลยการตรวจหลังคลอดครับ
      ริดสีดวงทวาร ส่วนใหญ่แล้วอาการริดสีดวงมักจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์หลังคลอด แต่ถ้าหลังคลอดแล้วคุณแม่ยังเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ก็อาจจะต้องใช้การผ่าตัดรักษา ดังนั้น หลังคลอดคุณแม่จึงควรฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ต้องกลัวว่าการถ่ายจะทำให้แผลเย็บเกิดฉีกขาด ทำความสะอาดอวัยวะเพศและทวารหนักให้สะอาด เน้นการรับประทานผักและผลไม้สดที่มีกากใยสูงและหมั่นเดินบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น
    • อาการไข้และการขับถ่าย ในระยะแรกหลังคลอดถ้าคุณแม่มีอาการไข้สูง เป็นหวัด แผลอักเสบ หรือปวดท้องควรรีบบอกหมอทันที เพราะอาจมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ หรือหากมีอาการท้องผูกทำให้ขับถ่ายลำบากและเจ็บแผล หมออาจจะให้กินยาถ่ายด้วย (ต้องงดให้นมลูกในระหว่างการใช้ยาทุกชนิด)
  4. ตรวจภาวะจิตใจ นอกจากร่างกายของคุณแม่หลังคลอดจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว คุณแม่มักจะกังวลกับการเลี้ยงลูก ทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อยลง เกิดความเครียด จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ คุณหมอก็จะสังเกตอาการและพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติของคุณแม่ ด้วยการถามไถ่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ว่าคุณแม่เลี้ยงลูกอย่างไร มีปัญหาไม่สบายใจตรงไหน มีใครช่วยเลี้ยงหรือไม่ หากคุณแม่มีปัญหา หมอก็จะได้ช่วยหาทางวางแผนแก้ไขต่อไป

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบได้ในบ่อยในสตรีไทย ผู้ที่เริ่มเป็นมักจะไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะเป็นมากจนเกิดอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ หรือมีเลือดออกภายหลังการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถ้าเป็นระยะสุดท้ายที่มะเร็งลุกลามแล้วก็ยากที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีครับที่ในปัจจุบันเราสามารถตรวจและสืบค้นได้ตั้งแต่เซลล์เริ่มผิดปกติ เพราะปากมดลูกจะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถตรวจได้ง่ายกว่าอวัยวะอื่น ประกอบกับการดำเนินโรคจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเป็นถึงขั้นลุกลาม จึงทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จะกระทำได้โดยวิธีที่เรียกว่า “แปปสเมียร์” (Pap smear) ที่สามารถทำได้ในระหว่างการตรวจภายในที่ห้องตรวจ ซึ่งแพทย์จะใช้เวลาเพียง 1 นาทีในการเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวปากมดลูกแล้วป้ายลงบนแผ่นสไลด์แก้ว หรือเก็บใส่ขวดพิเศษ ซึ่งจะส่งไปห้องปฏิบัติการย้อมสี แล้วให้พยาธิแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจผ่านทางกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีเซลล์ผิดปกติหรือไม่

คุณแม่หลังคลอดหรือผู้แท้งบุตรทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยปกติแล้วผู้หญิงควรได้รับการตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งในการตรวจหลังคลอดนี้หมอจะตรวจมะเร็งปากมดลูกให้ด้วย และหลังจากนั้นควรตรวจเป็นประจำทุก ๆ 1-3 ปี ในกรณีที่พบความผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้มาตรวจซ้ำหรือตรวจถี่ขึ้นตามความเหมาะสม

สำหรับผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกนั้น โดยปกติแล้วจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะทราบผล ซึ่งหมอจะนัดให้ไปพบเพื่อฟังผลหรือให้โทรศัพท์ถาม (บางแห่งก็มีบริการส่งผลการตรวจมะเร็งมาให้ที่บ้านทางไปรษณีย์ โดยที่คุณแม่ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาลอีกครั้งหนึ่ง) เพื่อฟังผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างเดียว

การคุมกำเนิดหลังคลอด

เมื่อเลือกวิธีการคุมกำเนิดได้แล้ว คุณแม่ที่ตัดสินใจคุมกำเนิดโดยเว็บไซต์เมดไทย (การใส่ห่วงอนามัย ก่อนตรวจเสร็จหมอจะใส่ห่วงอนามัยให้เลย ส่วนคุณแม่ที่จะใช้ยาฝังคุมกำเนิดหรือฉีดยาคุมกำเนิดหมอก็จะทำให้ แล้วนัดมาตรวจเพื่อติดตามผลต่อไป ส่วนคุณแม่ที่ต้องการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดและไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หมอก็จะจ่ายยาเม็ดคุมกำเนิดให้เลย

สำหรับคุณแม่ที่ยังเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป หมอจะเลือกยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงอย่างเดียวให้ เพื่อมิให้มีผลต่อการหลั่งน้ำนมของคุณแม่ (โปรเจสโตเจนจะไม่ยับยั้งการหลั่งน้ำนมและไม่ทำให้คุณภาพของน้ำนมเสื่อมลงเหมือนยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม) หรืออาจจะแนะนำให้คุณแม่คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ ไปก่อนจนกว่าจะถึงเวลาที่ลูกหย่านมแล้วจึงค่อยให้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่ใช้กันทั่วไป สำหรับรายละเอียดเรื่องการคุมกำเนิดคุณแม่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ การคุมกำเนิด