ZT Maju - шаблон joomla Продвижение

การรักษาคลองรากฟันคืออะไร

การรักษาคลองรากฟันคืออะไร
โดย ทพญ.ทวินันท์ พานพิศ ทันตแพทย์เฉพาะทาง สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์ (รักษาคลองรากฟัน)

การรักษารากฟัน คือ กระบวนการกำจัดเนื้อเยื่อในโพรงฟันที่มีการอักเสบ ติดเชื้อ และทำความสะอาดโพรงฟันและคลองรากฟันให้ปราศจากเชื้อ จากนั้นทำการอุดโพรงฟันด้วยวัสดุอุดคลองรากฟันและบูรณะตัวฟัน เพื่อความสวยงามและการใช้งานได้ตามปกติ


สาเหตุส่วนใหญ่ของการที่โพรงประสาทฟันถูกทำลายหรือตาย ได้แก่
• ฟันผุอย่างรุนแรง จนทะลุโพรงประสาทฟัน
• ฟันแตก ฟันร้าว หรือสึกจนทะลุโพรงประสาทฟัน
• ฟันได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ

อาการแสดงของฟันที่ต้องรักษาคลองรากฟัน
• เสียวฟันมากและต่อเนื่องเมื่อดื่มของร้อน ของเย็น
• ปวดฟันขึ้นเองโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น
• ปวดแบบเป็นๆหายๆ หรือปวดรุนแรงจนนอนไม่หลับหรือปวดจนตื่น
• เคี้ยวเจ็บ
• ฟันเปลี่ยนสี
• มีตุ่มหนอง หรือมีการบวมที่เหงือก หรือบริเวณใบหน้า

การรักษารากฟันทำอย่างไร
การรักษารากฟันประกอบด้วยหลายขั้นตอน และต้องใช้เวลาพบทันตแพทย์หลายครั้ง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ โดยทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปากและถ่ายภาพรังสีเพื่อช่วยในการวินิจฉัยและวางแผนก่อนการรักษา โดยมีขั้นตอนการรักษาดังนี้:

• ขั้นตอนแรก คือการเปิดทางเข้าสู่โพรงฟัน
• หลังจากที่โพรงประสาทฟันที่เสียถูกตัดออก (การรักษาโพรงประสาทฟัน) จะมีการทำความสะอาดโพรงประสาทฟันในตัวฟันและรากฟัน โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กร่วมกับน้ำยาล้าง และใส่ยาฆ่าเชื้อในคลองรากฟัน การทำความสะอาดปกติใช้เวลา 1-3 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของการติดเชื้อของฟันแต่ละซี่
• ถ้าต้องมีการพบทันตแพทย์มากกว่า 1 ครั้ง จะมีการอุดชั่วคราวไปก่อนเพื่อปกป้องฟันระหว่างรอการรักษาต่อไป
• เมื่อวัสดุอุดฟันชั่วคราวถูกกำจัดออก ทันตแพทย์จะทำการอุดคลองรากฟันให้เต็มแน่นโดยใช้วัสดุคล้ายยางเป็นแท่งเล็กๆ เรียกว่า Gutta-percha เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อซ้ำ
• ทำการบูรณะตัวฟันให้สวยงาม สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การบูรณะฟันหลังการรักษาคลองรากฟัน
สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อฟันที่เหลืออยู่
  1. กรณีเนื้อฟันเหลืออยู่มาก
ในฟันหน้าสามารถบูรณะด้วยวัสดุอุดฟันตามปกติ ในฟันหลังมีการบูรณะตัวฟันหลายรูปแบบเพื่อคลุมด้านบดเคี้ยวของตัวฟันทั้งหมด
  2. กรณีที่เนื้อฟันเหลือน้อย
อาจต้องใช้เดือยยึดในคลองรากฟันก่อนทำครอบฟัน

ข้อควรปฏิบัติหลังการรักษาคลองรากฟัน
  1. หลังการรักษาในแต่ละครั้ง อาจมีอาการปวดได้บ้าง 1-3 วัน ควรรับประทานยาแก้ปวด ถ้าอาการปวดไม่ทุเลาหรือรุนแรงมากขึ้น ให้กลับมาพบทันตแพทย์
  2. หลีกเลี่ยงการใช้ฟันกัดหรือบดเคี้ยวของแข็ง หากยังไม่ได้รับการบูรณะฟัน
  3. ผู้ป่วยควรมารับการตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่ารอยโรคบริเวณรอบรากฟันหายเป็นปกติ


photo8
  คลองรากฟันที่มีการติดเชื้อ          ทำความสะอาดและตกแต่งรูปร่างคลองรากฟัน



photo9

        อุดคลองรากฟัน                               บูรณะฟัน

ฟันที่รับการรักษาจะอยู่ได้นานเท่าใด
ฟันที่ได้รับการรักษาหรือฟื้นฟูสามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตถ้ามีการดูแลอย่างเหมาะสม เพราะฟันผุยังสามารถเกิดขึ้นได้อีกในฟันที่รับการรักษาแล้ว สุขอนามัยของปากและฟันที่ดีตลอดจนการพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

Zo2 Framework Settings

Select one of sample color schemes

Google Font

Menu Font
Body Font
Heading Font

Body

Background Color
Text Color
Link Color
Background Image
 
Top of Page