Font Size

SCREEN

Profile

Layout

Direction

Menu Style

Cpanel

เกี่ยวภาควิชา (About-US)

Vote it
(0 votes)
Posted by  in: home1

ชื่อหน่วยงาน

        ภาควิชานิติเวชศาสตร์,  คณะแพทยศาสตร์

Department of Forensic Medicine,  Faculty of Medicine 

ประวัติความเป็นมา ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว

            มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ทำข้อตกลงร่วมกับกรมตำรวจ ในโครงการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัย      ศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2529 โดยเริ่มดำเนินการในปีการศึกษา 2530 ทั้งนี้ กรมตำรวจได้มอบหมายให้โรงพยาบาลตำรวจและสถาบันนิติเวชวิทยา ดำเนินการจัดการเรียนการสอนแก่นิสิตแพทย์ โดยได้จัดตั้งภาควิชานิติเวชศาสตร์ ณ อาคารสัจธรรมชั้น 5 สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ บุคลากรส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตำรวจ ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยาดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ ได้จัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 รายวิชา FM 401 (นิติเวชศาสตร์) โดยอาจารย์พิเศษเดินทางจากสถาบันนิติเวชวิทยามาสอนที่วชิรภาพ และต่อมาย้ายมาสอนที่ศูนย์การแพทย์ฯ 1 สัปดาห์ และชั้นปีที่ 5 รายวิชา FM 521 (นิติเวชศาสตร์ปฏิบัติการทางคลินิก) สอนที่สถาบันนิติเวชวิทยา 2 สัปดาห์ 

         วันที่ 13 ก.ค. 2549 อาจารย์ประจำได้กลับมาปฏิบัติงานที่ศูนย์การแพทย์ฯ 2 ท่าน คือ อ.พญ.วรัทพร  สิทธิจรูญ และ อ.พญ.ศิรินทร์ บุษยามานนท์ ได้จัดตั้งสำนักงานภาควิชาขึ้นที่ภาควิชาพยาธิวิทยา ศูนย์การแพทย์ฯ ชั้น 3 และชั้นใต้ดิน โดยความอนุเคราะห์ของหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา (รศ.ดร.รัชนี อัศวรุ่งนิรันดร์) ผศ.พญ.นันทนา ชุมช่วย อ.นพ.สมดี รัตนวิบูลย์ และ รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ให้ใช้ห้องธุรการพยาธิเป็นสำนักงานภาควิชา รวมทั้งอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ ห้องทำงาน โต๊ะทำงาน เตียงผ่าศพ และเครื่องมือผ่าศพ นอกจากนี้ อ.พญ.นันทนาฯ ยังเป็นที่ปรึกษาในการจัดตั้งโครงการบริการทางนิติเวชศาสตร์ทั้ง 3 โครงการ คือ โครงการบริการตรวจผู้ป่วยคดี โครงการบริการการตรวจชันสูตรพลิกศพ และโครงการบริการการผ่าชันสูตรศพ 

จากการปรึกษาหารือกับหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสต์ ซึ่งในขณะนั้นคือ พล.ต.ต.ณรงค์ศักดิ์ เสาวคนธ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา เรื่องแผนการปฏิบัติงานของภาควิชา สรุปว่า การทำงานของอาจารย์ประจำที่ศูนย์การแพทย์ฯ 2 ปีแรก (2549-2550) จะเป็นการให้บริการการตรวจผู้ป่วยคดีที่ศูนย์การแพทย์ฯ และต้องส่งผู้ช่วยแพทย์นิติเวชไปศึกษาดูงานการผ่าศพ ที่สถาบันนิติเวชวิทยาเป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้บริการผ่าชันสูตรศพได้ สำหรับการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4 อาจารย์พิเศษจะยังดำเนินการสอนนิสิตแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์ฯ และในชั้นปีที่ 5 อาจารย์พิเศษดำเนินการสอนที่สถาบันนิติเวชวิทยา จนกระทั่งมีมติการประชุมดำเนินงานศูนย์การแพทย์ฯ อนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการที่ภาควิชาที่เสนอ 3 โครงการดังกล่าว ภาควิชาจึงเปิดรับธุรการภาค 1 ตำแหน่ง และผู้ช่วยแพทย์นิติเวช 2 ตำแหน่ง เป็นพนักงานรายวัน การปฏิบัติงานของภาควิชาในเบื้องต้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล เต็มไปด้วยปัญหาที่ต้องแก้ไขในแต่ละวัน ท่านคณบดีในสมัยนั้น รศ.นพ.อรุณวงศ์ เทพชาตรี และ รศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์ฯ คณะผู้บริหารและคณาจารย์ ได้ให้โอกาส คำแนะนำ และกำลังใจในการพัฒนาภาควิชา รวมทั้งความช่วยเหลือจากเลขานุการคณะ คุณนัทรี แสงทองกมล และ หัวหน้าสำนักอำนวยการ คุณชัชวาล พรธาดาวิทย์ เป็นอย่างดีเสมอมา

            เดือนกรกฎาคม 2549 ภาควิชาถูกย้ายไปที่แผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินด้านหลัง ประกอบด้วย ห้องตรวจผู้ป่วยคดีและสำนักงานภาควิชา อย่างละ 1 ห้อง โดยเริ่มเปิดให้บริการตรวจผู้ป่วยคดีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ให้บริการตรวจผู้ป่วยคดี และตรวจชันสูตรพลิกศพ ณ สถานที่ที่พบศพ ทุกวันราชการ มีการอยู่เวรนอกเวลาราชการจนถึงเวลา 24.00 น. ของทุกวัน มีเขตรับผิดชอบหลัก 3 ตำบล ของอำเภอองครักษ์ มีการออกตรวจชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรองครักษ์ ซึ่งดำเนินการได้เป็นอย่างดี ต่อมาผู้ช่วยแพทย์นิติเวชกลับจากการศึกษาดูงานที่สถาบันนิติเวชวิทยา ภาควิชาจึงได้เริ่มเปิดให้บริการผ่าชันสูตรศพในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 และสามารถขยายงานบริการจนเป็นที่ยอมรับของชุมชน ต่อมาได้ย้ายสำนักงานภาควิชาไปยังห้องยานอกเวลา ที่อยู่ตรงข้ามกับแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โดยเป็นห้องตรวจผู้ป่วยคดี และสำนักงานภาควิชา นอกจากนี้ อาจารย์ประจำยังมีภาระงานด้านการบริการวิชาการ โดยร่วมสอนในหลักสูตรของภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาเรื่องการตรวจผู้ถูกละเมิดทางเพศเป็นหลัก เป็นวิทยากรสอนบรรยายตามคำเชิญจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร และร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานของคณะแพทยศาสตร์ และมหาวิทยาลัย

         เดือนกรกฎาคม 2550 มีอาจารย์ประจำกลับมาปฏิบัติหน้าที่เพิ่มอีก 2 ท่าน ได้แก่ อ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี และ อ.นพ.ปิยะ ดุรงคเดช ภาควิชาได้ขยายงานบริการการตรวจผู้ป่วยคดี และการตรวจชันสูตรพลิกศพ โดยแพทย์นิติเวชสามารถปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถขยายพื้นที่การตรวจชันสูตรพลิกศพ และผ่าชันสูตรศพเพิ่มขึ้น ในด้านการเรียนการสอน ภาควิชาสามารถจัดการเรียนการสอนชั้นปีที่ 4 รายวิชา นว 401 (FM 401) ที่ศูนย์การแพทย์ฯ โดยเริ่มในปีการศึกษา 2550 (มกราคม 2551) จนถึงปัจจุบัน สำหรับการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 5 ยังสอนที่สถาบันนิติเวชวิทยาเช่นเดิม โดยมีอาจารย์ประจำเป็นผู้ควบคุมดูแล ในเวลานั้น มีอาจารย์ประจำ 1 ท่าน คือ อ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ลาศึกษาต่อหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาอณูวิทยา ณ คณะแพทยศาสตร์ มศว เป็นเวลา 1 ปี

         ปีการศึกษา 2552 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 คณบดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ รองหัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ ได้ประชุมปรึกษาหารือกัน เรื่องการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 รายวิชา นว 521 (FM 521) เพื่อปรับเปลี่ยนการการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเกณฑ์ภาระงานอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย สรุปผลการประชุม ให้มีการเรียนการสอนภาคทฤษฎีที่ศูนย์การแพทย์ฯ โดยอาจารย์ประจำ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และการเรียนการสอนภาคปฏิบัติที่สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเวลา 1 สัปดาห์เดือนกรกฎาคม 2552 มีอาจารย์ประจำกลับมาปฏิบัติงานเพิ่มอีก 1 ท่าน คือ อ.นพ.อภิชัย แผลงศร ภาควิชาได้จัดการเรียนการสอนปีที่ 4 และปีที่ 5 ภาคทฤษฎี ที่ศูนย์การแพทย์ฯ อย่างสมบูรณ์โดยเริ่มในปีการศึกษา 2552 รอบที่ 2 เป็นต้นมาเดือนธันวาคม 2554 นายแพทย์ปิยะ ดุรงคเดช ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเมื่อวันที่  5 มีนาคม 2555 มีอาจารย์มาบรรจุเพิ่ม 1 ท่าน คือ นายแพทย์วาทิตต์  รุจิราวรรณ  รวมมีแพทย์นิติเวชปฏิบัติงานจำนวน 5 คน

        ปัจจุบัน ภาควิชานิติเวชศาสตร์มีอาจารย์ประจำ จำนวน 5 ท่าน ได้จัดการเรียนการสอนรายวิชา นว 401 จำนวน 1 หน่วยกิต จัดขึ้นที่ศูนย์การแพทย์ฯ โดยอาจารย์ประจำ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และ รายวิชา นว 521 จำนวน 2 หน่วยกิต จัดที่ศูนย์การแพทย์ฯ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และสถาบันนิติเวช โดยอาจารย์พิเศษ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ในปีการศึกษา 2556มีอาจารย์นิติเวชมาร่วมสอน สังกัดศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ โรงพยาบาลชลประทาน คือ นพ.ยุตติ อมรเลิศวัฒนา ในรายวิชา นว 401 และ รายวิชา นว 521 ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 แพทย์หญิงวรัทพร สิทธิจรูญ หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ ได้ครบวาระดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาค  ภาควิชาจึงได้ประชุมและเสนอชื่อ แพทย์หญิงศิรินทร์ บุษยามานนท์ เป็นหัวหน้าภาคคนปัจจุบัน โดยได้รับการแต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557


รายชื่อหัวหน้าภาควิชาในอดีตถึงปัจจุบันดังนี้    
                                            

1. พล.ต.ต.นพ.ไพฑูรย์ หลิมรัตน์ พ.ศ. 2529 – 2531

2. พล.ต.ท.นพ.ประเวศ คุ้มภัย พ.ศ. 2531 – 2533

3. พล.ต.ต.นพ.ทัศนะ       สุวรรณจูฑะ พ.ศ. 2533 – 2538

4. พล.ต.ต.นพ.วิชิต     สมาธิวัฒน์ พ.ศ. 2538 – 2546

5. พล.ต.ท.นพ.เลี้ยง หุยประเสริฐ พ.ศ. 2546 – 2548

6. พล.ต.ต.ณรงค์ศักดิ์     เสาวคนธ์ พ.ศ. 2548 – 2552

7. ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล พ.ศ. 2552 – 2553 (รักษาราชการแทน)

8. แพทย์หญิงวรัทพร สิทธิจรูญ พ.ศ. 2553 – 2557

9. แพทย์หญิงศิรินทร์ บุษยามานนท์ พ.ศ. 2557 – วันที่ 17 พ.ย.2558

10. นพ.อภิชัย แผลงศร 
วันที่ 17 พ.ย. 2558- ปัจจุบัน

 

 

Last modified on วันศุกร์, 30 มีนาคม 2561 01:48
admin

Administrator