ความรู้เผยแผ่
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันพุธ, 06 กุมภาพันธ์ 2562 04:41
ความรู้ที่ 1
ขั้นตอนในการรับโทรศัพท์กรณีการแจ้งเสียชีวิตของผู้บริจาคร่างกาย
ของ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว
1. สอบถามชื่อ-นามสกุล ของผู้บริจาคร่างกายที่เสียชีวิต
2. สาเหตุการเสียชีวิต กรณีเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุร้ายแรง, การฆ่าตัวตาย, เป็นคดีความ, มีการผ่าชันสูตรศพ, มีการแจ้งพิสูจน์ประกันชีวิต, มีการผ่าตัดใหญ่ ฯลฯ จะดำเนินการแจ้งญาติว่าไม่สามารถนำร่างมาดำเนินการดองศพได้
3. กรณีที่ร่างของผู้บริจาคไม่มีปัญหาใด ๆ และผู้บริจาคร่างกายเสียชีวิตในช่วงเย็นหรือช่วงกลางคืนจะแจ้งให้ญาติดำเนินการนำร่างผู้บริจาคฝากเก็บไว้ใน ตู้เย็น, ห้องเย็น ฯลฯ โดยเร็วที่สุดเพื่อรักษาสภาพร่างกายของผู้เสียชีวิต
4. สอบถามเลขที่บริจาคร่างกายโดยให้ดูจากบัตรประจำตัวผู้บริจาคร่างกาย กรณีที่หาไม่เจอขอให้ญาติแจ้งปี พ.ศ. ที่ผู้บริจาคร่างกายได้มาทำเรื่องไว้กับภาควิชาฯ เพื่อที่จะได้นำไปค้นหาหลักฐานการบริจาคร่างกายจากแฟ้มบริจาคร่างกายของภาควิชาฯ
5. แจ้งญาติให้ไปทำใบมรณะบัตรที่อำเภอ หรือเขต ที่เสียชีวิต เพื่อที่เจ้าหน้าที่ผ่าและรักษาศพจะได้นำกลับมาเป็นหลักฐาน
6. สอบถามเบอร์โทรศัพท์ติดต่อและชื่อของญาติเพื่อจะได้ติดต่อกลับ
7. แจ้งญาติว่าจะให้เจ้าหน้าที่ผ่าและรักษาศพ ของภาควิชาฯ ติดต่อกลับเพื่อนัดเวลาไปรับร่างของผู้บริจาคร่างกาย
8. ในกรณีที่ญาติสอบถามว่าจะสามารถนำร่างผู้บริจาคร่างกายไปบำเพ็ญกุศลได้กี่วัน ควรแจ้งตอบญาติว่าทางภาควิชาฯ ขอให้ญาติทำการตัดผมตัดเล็บเก็บไว้เพื่อเป็นตัวแทนในของร่างไว้ตั้งทำพิธีบำเพ็ญกุศล และจะขอนำร่างอาจารย์ใหญ่กลับมาทำการฉีดน้ำยาเข้าร่างอาจารย์ใหญ่ให้เร็วที่สุด เพื่อประสิทธิภาพของการดองร่างอาจารย์ใหญ่จะดีที่สุด ทางภาควิชาฯ อยากทำการปฏิบัติต่อร่างอาจารย์ใหญ่ให้ดีที่สุดให้สมกับเจตนารมย์ที่อาจารย์ใหญ่ได้ตั้งใจไว้
ความรู้ที่ 2
โครงการส่งเสริมสุขภาพของนิสิตแพทย์ มศว ระหว่างการเรียนการสอนในชั้นพรีคลินิก
นพดล อินทรทัต, จิตชนม์ ผลประยูร, สุมล จึงอุดมเจริญ, มัญชุสา ช่วยศรี, สุวดี ชวนไชยะกูล, วิภาวี อนุพันธ์พิศิษฐ์,
วิสุทธิ์ ประดิษฐ์อาชีพ, หัทยา เพชรพิบูลย์ไทย, บุษบา ปันยารชุน, อุดมศรี โชว์พิทธพรชัย, วนิดา ไตรพาณิชย์กุล, พูลพล ผดุงชัยโชติ,
อรพิน เกิดประเสริฐ, อุทัย ตันกิตติวัฒน์, เฉง นิลบุหงา, รักษวรรณ พูนคำ, สิรินันท์ พงศ์เมธีกุล, พงษ์ศักดิ์ ขันธ์เพ็ชร,
จิตราภรณ์ ควรประดิษฐ์, สมใจ อภิเศวตกานต์
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
บทนำ
แนวคิดเรื่องการส่งเสริมสุขภาพให้แก่นิสิตแพทย์ได้ถูกนำมาสอดแทรกในการเรียนการสอนของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ในรูปแบบการจัดกิจกรรมการออกกำลังกาย และการให้ความรู้ในการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอ้วนและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์
วัตถุประสงค์
เพื่อปลูกฝังแนวคิดในการป้องกันการเกิดโรคด้วยการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง นอกเหนือจากการเน้นแต่การรักษา และเพื่อให้นิสิตได้ทราบถึงสมรรถนะของตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อพัฒนาดูความเปลี่ยนแปลงต่อไป
วิธีการวิจัย
กิจกรรมประกอบด้วยสองกิจกรรมหลักคือ
1. ตรวจดัชนีชี้วัดความอ้วนได้แก่ การวัดสัดส่วนของร่างกาย การหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index = BMI) และการวัดค่าเปอร์เซ็นต์ไขมัน (Viscreal Fat) ในร่างกายแบบ non-invasive
2. การทดสอบสมรรถภาพร่างกายโดยใช้ step test exercise เป็นเวลาหนึ่งนาที โดยมีการตรวจวัดชีพจรและความดันโลหิตก่อนและหลังการทดสอบ
นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ค่าตัวแปรที่ต้องการวัดคือ ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index = BMI), ค่าระดับไขมันในช่องท้อง (Visceral fat rating), อัตราการเต้นของหัวใจ (Heart Rate; HR) ก่อนและหลังการทดสอบ, ความดันโลหิต (Blood Pressure; BP) ก่อนและหลังการทดสอบ และ ค่าอายุร่างกาย (Body age) หาค่าเฉลี่ยและวิเคราะห์ค่าสถิติด้วย t-test for dependent samples หรือ paired t-test
เมื่อจบการทดสอบจะมีการแปลผลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับพฤติกรรมในการดำรงชีวิต เช่น การออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหาร รวมทั้งการปรับอารมณ์ และการลดความตึงเครียดทางด้านจิตใจ การพักผ่อนที่พอเพียง การได้รับอากาศบริสุทธิ์ ผลจากการตรวจวัด ได้จากการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบตั้งแต่นิสิตอยู่ชั้นปีที่ 2 และตรวจวัดซ้ำอีกครั้งเมื่อนิสิตขึ้นชั้นปืที่ 3 โดยเป็นนิสิตกลุ่มเดิมทั้งชั้นปีจำนวน 169 คน
ผลการวิจัย
ตารางแสดงค่าตัวแปรด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและการทำงานของร่างกายเมื่อนิสิตแพทย์อยู่ชั้นปีที่ 2 (MD 2) และชั้นปีที่ 3 (MD 3)
ตัวแปร |
นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 ( Mean + S.D.) |
นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 ( Mean + S.D.) |
1. Heart rate (b/m) (ก่อนออกกำลังกาย) |
84.62+13.55* |
87.00+14.12* |
2. Heart rate (b/m) (หลังออกกำลังกาย) |
102.75+19.95* |
105.04+17.26* |
3. Blood pressure Systolic (mm/Hg) (ก่อนออกกำลังกาย) |
120.00+13.13* |
122.85+12.59* |
4. Blood pressure Systolic (mm/Hg) (หลังออกกำลังกาย) |
137.97+15.97* |
138.63+29.59* |
5. Blood pressure Diastolic (mm/Hg) (ก่อนออกกำลังกาย) |
74.30+7.88* |
75.46+31.83* |
6. Blood pressure Diastolic (mm/Hg) (หลังออกกำลังกาย) |
79.07+8.33* |
76.08+8.64* |
7. BMI (kg./m2) |
21.40+3.34* |
21.38+3.23* |
8. Visceral fat (visceral rating) |
4.13+3.17* |
4.10+3.29* |
9. Body age (years) |
25.04+7.70* |
24.93+7.99* |
*ผลการวิเคราะห์ด้วยสถิติ paired t-test (ผ่านโปรแกรม IBM SPSS Statistics version 22) ที่ค่าความเชื่อมั่น 0.05 ค่าตัวแปรต่าง ๆ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงอย่างไรก็ตามค่า BMI, Visceral fat และ Body age ของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 มีแนวโน้มลดน้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับค่า BMI, Visceral fat และ Body age ของนิสิตแพทย์เมื่ออยู่ในชั้นปีที่ 2
สรุป
ผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่องในนิสิตหนึ่งรุ่นนั้น เมื่อพิจารณาจากกราฟแสดงค่าตัวแปรทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโดยดูจากค่า BMI, visceral fat และ Body age นั้น ตลอดจนตัวแปรที่แสดงถึงหน้าที่การทำงาน ได้แก่ ชีพจร, ความดันโลหิต พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่อย่างไรก็ตามค่าตัวแปรบางค่า เช่น BMI, Visceral fat rating และ ค่า body age มีแนวโน้มดีขึ้นในนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในสุขภาพของนิสิตที่มีมากขึ้น
จากผลของการจัดกิจกรรมสรุปได้ดังนี้
1. การจัดกิจกรรมนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้นิสิตหลายราย เริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น การมีค่า BMI เปอร์เซ็นต์ไขมัน และค่าอายุร่างกาย (Body age) มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งค่า Body age แปรตามเปอร์เซ็นต์ไขมันร่างกาย และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนที่พอเพียง การได้รับอากาศบริสุทธิ์ รวมทั้งการลดความเครียด ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่านิสิตแพทย์มีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น
2. การแปลผลหลังการทดสอบต้องเน้นย้ำถึงการปรับการปฏิบัติตนอย่างจริงจังจึงจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ทั้งร่างกายและจิตใจ
3. เป็นการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น เช่น ในบางรายมีการตรวจพบว่านิสิตบางคนมีความดันโลหิตสูงกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงวัยนี้ ซึ่งได้ให้คำแนะนำให้ไปพบแพทย์ต่อไป
บรรณานุกรม
1. ชัชฎา ชินกุลประเสริฐ. การออกกำลังกายด้วยลูกบอล. ใน: กานดา ชัยภิญโญ, บรรณาธิการ. ความรู้กายภาพบำบัดและส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมานมิตรพิมพ์; 2557. หน้า 49-59.
2. นพมาศ แก่นดี. ประโยชน์เชิงสุขภาพของผลิตภัณฑ์จากข้าวต่อโรคอ้วนลงพุง. ใน: กานดา ชัยภิญโญ, บรรณาธิการ. ความรู้กายภาพบำบัดและส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมานมิตรพิมพ์; 2557. หน้า 14-18.
3. ยุพารัตน์ อดกลั้น. โภชนาการเพื่อสุขภาพดีที่ยั่งยืน. ใน: กานดา ชัยภิญโญ, บรรณาธิการ. ความรู้กายภาพบำบัดและส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมานมิตรพิมพ์; 2557. หน้า 1-13.
4. วันวิสาข์ พานิชาภรณ์. การออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการปวดคอเรื้อรัง. ใน: กานดา ชัยภิญโญ, บรรณาธิการ. ความรู้กายภาพบำบัดและส่งเสริมสุขภาพสำหรับประชาชน. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมานมิตรพิมพ์; 2557. หน้า 155-169.
5. แสงโสม สีนะวัฒน์, นิรมล ดามาพงษ์, นันทจิต บุญมงคล. สถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย. FACT SHEET - ด้านโภชนาการ : 2541; 3(5): กุมภาพันธ์
6. สมาคมการยศาสตร์ไทย. การคำนวณอายุร่างกาย (Body Age). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://thaiergonomics.blogspot.com/2014/05/body-age.html. สืบค้น 20 กรกฎาคม 2559 .
7. กระปุกดอทคอม. ภาวะไขมันในช่องท้อง ภัยร้ายที่คนผอมต้องระวัง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://health.kapook.com/view107702.html. สืบค้น 20 กรกฎาคม 2559 .
8. Topend Sports - The Ultimate Sport & Science Resource [Internet]. Step Test at Home. Topend Sports Network ; c1997-2014- [cited 2016, April 20]. Available from: http://www.topendsports.com/testing/tests/home-step.htm .