ช่วงนี้ปริมาณฝุ่นควันพิษขนาดเล็กมันสูงจนเป็นอันตรายในหลายพื้นที่ สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงต่างๆจากการจราจรแสนติดขัดในเมือง (traffic-related particulate matter (PM)) PM เหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพทั้งด้านทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็ง สำหรับผิวหนังก็มีงานวิจัยที่พบว่า PM เหล่านี้เกี่ยวข้องกับความชราของผิว
ผิวหนังเราเมื่ออายุมากขึ้น ก็เกิดการชรา ขออนุญาตใช้คำว่า skin aging ซึ่งพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อ skin aging มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายในนั้นจะขึ้นกับลักษณะพันธุกรรมของแต่ละคนเป็นหลัก ยากจะหลีกเลี่ยง ส่วนปัจจัยภายนอกนั้น คือ พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มันจะกระตุ้นหรือชะลอความแก่ของผิวหนัง เช่น เรารู้กันมานานแล้วว่า แสงแดดและการสูบบุหรี่นั้นส่งผลให้เร่งให้ผิวแก่เร็ว มีริ้วรอย หย่อนคล้อย จุดด่างดำ
ส่วนฝุ่นควันพิษ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเริ่มมีรายงานและงานวิจัยมากขึ้นเรื่อยๆ ที่พบว่าทำให้กระตุ้นการเกิดกระ จุดดำและริ้วรอย โดยการกระตุ้นสารอนุมูลอิสระที่ผิวหนัง หรือ PM ไปสะสมที่ไมโทคอนดรียซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตพลังงานภายในเซลล์ เกิดความเสียหายและทำให้เซลล์เสื่อมสลายก่อนเวลาอันควร นอกจากนี้การเผาไหม้เชื้อเพลิงทำให้เกิด polycyclic aromatic hydrocarbons (PAHs) ซึ่งอยู่บนผิว PM เหล่านี้ได้ทำให้เป็นอันตรายต่อผิวหนังได้
การป้องกันที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่นควันมลภาวะเยอะๆ แต่ด้วยสภาพชีวิตคนเมืองกรุงคงเลี่ยงได้ยาก สิ่งอื่นๆที่สามารถช่วยได้ เช่น
- ทำความสะอาดผิวหนัง ล้างหน้า อาบน้ำ หลังที่ออกเผชิญฝุ่นควันมากๆ
- สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี Niacinamide(B3) เป็นต้น ที่ในปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบทั้งกิน ทั้งทา ให้เลือกใช้
- Adaptogens คือสารธรรมชาติที่พบว่าช่วยปรับสมดุลให้เซลล์ได้ เช่น CoQ10, Resveratrol, Curcumin เป็นต้น
ฝุ่นควันพิษในบ้านเมืองเราอาจจะไม่ได้ดีขึ้นภายในข้ามคืน แต่ก็ขอฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแลคนละไม้คนละมือ ให้บ้านเราน่าอยู่ขึ้นกันเถอะค่ะ
References
- Hüls, A. et al. Traffic-Related Air Pollution Contributes to Development of Facial Lentigines: Further Epidemiological Evidence from Caucasians and Asians. Journal of Investigative Dermatology. 136(5), 1053–1056 (2016).
- Vierkötter, A. & Krutmann, J. Environmental influences on skin aging and ethnic-specific manifestations. Dermato-Endocrinology.4(3), 227–231 (2012)