ZT Maju - шаблон joomla Продвижение

ข่าวเด่นประจำวัน

1555210922287

กรมสุขภาพจิต สนับสนุนคนไทยให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น ทำทุกวันให้เป็นวันครอบครัว  เน้นการใส่ใจและการให้เวลาที่มีคุณภาพแก่กันและกัน ทำกิจกรรมที่มีความสุข และสร้างความทรงจำที่น่าจดจำไปด้วยกัน จากกิจกรรมง่ายๆ ที่อยู่รอบตัวเรา

วันนี้ (14 เมษายน 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เนื่องในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลวันสงกรานต์และเป็นวันครอบครัว กรมสุขภาพจิตเล็งเห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีในการที่ครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวทุกคน ได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ชอบร่วมกัน รับฟังความสุขและความทุกข์ซึ่งกันและกัน และได้พูดคุยปัญหาที่มีในครอบครัวอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ทั้งนี้ อยากเห็นภาพครอบครัวของคนไทยทุกคน ให้ความสำคัญในเรื่องครอบครัวมากขึ้น เนื่องจากหากทุกคนในครอบครัวมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีแล้ว ย่อมส่งผลให้สมาชิกทุกคนสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกำลังกายและกำลังใจที่เต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา 

การจะทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขนั้น ไม่จำเป็นต้องรอวันหยุดเทศกาลเพียงอย่างเดียว เราทุกคนสามารถ           ทำให้ทุกๆ วัน เป็นวันครอบครัวได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การให้เวลาที่มีคุณภาพแก่กันและกัน เวลาที่มีคุณภาพนั้น หมายถึง เวลาที่สมาชิกทุกคนเชื่อมโยงเข้าหากัน ทำกิจกรรมที่มีความสุขร่วมกัน และสร้างความทรงจำที่น่าจดจำด้วยกัน อาจเป็นเพียงกิจกรรมง่ายๆ ที่อยู่รอบตัว โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองมากมายในการทำกิจกรรมนั้นๆ เช่น ออกกำลังกายร่วมกัน ทำอาหารร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งเวลาคุณภาพเช่นนี้ บางครั้งไม่ได้เกิดขึ้นเอง สมาชิกในครอบครัวต้องช่วยกันสร้างขึ้นมา

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเราได้ช่วงเวลาคุณภาพแล้ว เราควรมอบความรักให้แก่กันอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจแสดงออกเป็นคำพูดหรือภาษากายที่สื่อถึงความรักกันทุกวัน ให้ความใส่ใจและให้เกียรติสมาชิกแต่ละคนอย่าง          เท่าเทียม เข้าใจและยอมรับถึงความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว ใส่ใจรับฟังทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ด้วยความตั้งใจและไม่ด่วนตัดสินไปก่อน มุ่งเน้นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่สมาชิกในครอบครัว ให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนสำคัญของครอบครัวเสมอ เพียงเท่านี้เราก็สามารถทำวันทุกวันให้เป็นวันครอบครัวได้แล้ว

“ความเป็นครอบครัวนั้น ไม่ได้หมายถึงการมีสายเลือดร่วมกันเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการมีสายใยที่เชื่อมโยงหัวใจของสมาชิกแต่ละคนให้เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันอีกด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

                      **********************************************                     

 

ข่าวเด่นประจำวัน

030519 Pic2

กรมสุขภาพจิต ระบุ การขาดความรู้ ความเข้าใจและมีทัศนคติ ด้านลบ ของประชาชน ต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการบำบัด รักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นเหตุให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรง ขึ้น จนก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตน หรือ ผู้อื่น ยังคงเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขป้องกันภายใต้พ.ร.บ.สุขภาพจิต ย้ำผู้ใดพบเห็นบุคคลซึ่งมีภาวะอันตราย หรือมีความจำเป็นต้องได้รับ การบำบัดรักษา ให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือ ตำรวจ กำชับญาติ และคนในครอบครัว เป็นคนที่สามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติก่อน จึงไม่ควรละเลยการปฏิบัติในเรื่องนี้

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามที่มักปรากฎเหตุการณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้มีปัญหาสุขภาพจิต และจิตเวชเป็นระยะนั้น สาเหตุของปัญหานี้ที่สำคัญคือการขาดความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติ ด้านลบ ของประชาชน ต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการบำบัด รักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นเหตุให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่พฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายทั้งกับตัวผู้ป่วยเอง บุคคลรอบข้าง และสังคม ขอเน้นย้ำว่าต่อการป้องกัน แก้ไขปัญหานี้ มีพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 ที่ให้การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และความปลอดภัยของสังคม ในมาตรา ๒๒ กำหนดให้บุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต   ในกรณีใดกรณีหนึ่ง คือ มีภาวะอันตราย หรือ มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เป็นบุคคลที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา มาตรา ๒๓ กำหนดผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์อันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นมีลักษณะมีภาวะอันตราย หรือ มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยไม่ชักช้า        กรมสุขภาพจิตจึงขอให้ทุกคน โดยเฉพาะญาติ ที่สามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติทางจิตของคนในครอบครัวก่อน   ได้ทำหน้าที่ตามกฎหมายนี้ ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงโทรขอคำปรึกษา ที่เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669   หรือโทรแจ้งเหตุสายด่วนตำรวจ 191

          “พ.ร.บ.สุขภาพจิต ช่วยให้ประชาชนและสังคมส่วนรวมได้รับความปลอดภัยจากผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชที่มีภาวะอันตราย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชได้รับการบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ครอบคลุมและมีความต่อเนื่อง ช่วยให้คุณภาพชีวิต ของผู้ป่วยดีขึ้น เป็นการป้องกันมิให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต และจิตเวชก่ออันตรายทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ผู้ป่วยจิตเวชจะได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ซึ่งพึงจะได้รับจากรัฐ เช่น การเข้าถึงบริการ มาตรฐานการบริการ และเป็นการป้องกัน การเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญแนวทางหนึ่ง ”

********************** 3 พฤษภาคม 2562

 

ข่าวเด่นประจำวัน

4755

 

อาการของโรควิตกกังวล

อัปเดตล่าสุดเมื่อวันที่ มิ.ย. 3, 2018 ประมาณเวลาการอ่าน: 2 นาที

ทำความรู้จักกับอาการและอาการแสดงของโรควิตกกังวล

ทุกคนสามารถมีอาการวิตกกังวลได้เป็นบางครั้ง เพราะความรู้สึกนี้เป็นการตอบสนองชองร่างกายตามธรรมชาติต่อความเครียด ในขณะที่โรควิตกกังวลนั้นเกิดเมื่อความรู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจอย่างรุนแรงนั้นมีมากและเป็นอยู่นาน จนทำให้คุณไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น ไปทำงานหรือไปหาครอบครัวและเพื่อนได้

อาการของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลเป็นกลุ่มของโรคที่มีอาการเกี่ยวข้องกัน โดยแต่ละประเภทจะมีอาการเด่นที่แตกต่างกันออกไป โรคในกลุ่มนี้มักได้รับการวินิจฉัยเมื่อพบว่าความกลัวต่อเหตุการณ์ สถานที่ หรือสิ่งของที่ไม่ได้ทำให้เป็นอันตรายนั้น รุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ นอกจากนั้นยังสามารถวินิจฉัยได้หากคุณมีความรู้สึกกลัวหรือกังวลที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างน้อย 6 เดือน ผู้ป่วยโรควิตกกังวลส่วนใหญ่มักมีอาการทั้งทางกายและทางจิตร่วมกัน โดยมีอาการกลัวเกี่ยวกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงเป็นอาการที่สามารถพบได้ร่วมกันในโรควิตกกังวลทุกประเภท

อาการทางจิตอื่นๆ ประกอบด้วย

  • ความรู้สึกหวาดหวั่นหรือกลัว
  • ความรู้สึกกระสับกระส่ายหรืออยู่ไม่สุข
  • ความรู้สึกเครียดและชวนให้ตกใจ
  • มองหาสัญญาณของอันตรายตลอดเวลา

อาการทางกาย ประกอบด้วย

  • หัวใจเต้นเร็วหรือแรง
  • หายใจลำบาก
  • เหงื่อออกมาก
  • มีอาการสั่น
  • ปวดหัว
  • อ่อนเพลียหรืออ่อนแรง
  • นอนไม่หลับ
  • คลื่นไส้หรือท้องไส้ปั่นป่วน
  • ปัสสาวะหรือท้องเสียบ่อย

อาการวิตกกังวลกำเริบคืออะไร?

อาการวิตกกังวลกำเริบหรือหวาดระแวงกำเริบเกิดเมื่อมีความรู้สึกกลัวอย่างฉับพลัน อาการหวาดระแวงกำเริบนี้มักคงอยู่ได้หลายนาทีจนถึงครึ่งชั่วโมง สถานที่หรือสถานการณ์บางอย่างสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ในบางคน และอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อนก็ได้ การมีอาการวิตกกังวลกำเริบบ่อยๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคหวาดระแวง โดยเมื่อมีอาการกำเริบมักจะต้องมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 4 ข้อ ประกอบด้วย

  • ใจสั่น (หัวใจเต้นแรงและเร็ว)
  • เหงื่อออก
  • มีอาการสั่น
  • เจ็บหน้าอกหรือไม่สบายในอก
  • หายใจลำบาก
  • รู้สึกเหมือนจะเป็นลม
  • มีอาการชาโดยเฉพาะที่มือ
  • รู้สึกร้อนหรือหนาวสั่น
  • รู้สึกเวียนหัว มึนหัว หรือโคลงเคลง
  • คลื่นไส้ หรือท้องไส้ปั่นป่วน
  • รู้สึกเหมือนกำลังจะหลุดออกจากร่าง
  • รู้สึกสูญเสียการควบคุมหรือกำลังจะเป็นบ้า
  • กลัวความตาย

การวินิจฉัยโรควิตกกังวล

แพทย์หรือพยาบาลจะทำการถามคำถามเกี่ยวกับอาการที่คุณมีอาการทางกายบางอย่างของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคทางกายบางโรค เช่น โรคหัวใจหรือโรคไทรอยด์ฮอร์โมนสูง แพทย์จึงอาจทำการตรวจร่างกายและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกโรคทางกายเหล่านี้ออกไปก่อน หากไม่พบว่ามีโรคทางกาย แพทย์ของคุณอาจส่งต่อให้พบกับผู้เชี่ยวชาญทางจิตใจ (จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา) เพื่อทำการวินิจฉัย ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะทำการระบุประเภทของโรควิตกกังวลที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว นอกจากนั้นยังจะมองหาโรคทางจิตอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกันเช่นโรคซึมเศร้า

ข่าวเด่นประจำวัน

 

 
 
 ข่าวแจกกรมสุขภาพจิต

270519-Pic

        กรมสุขภาพจิต แนะนำเทคนิค 4 ประการ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการดูแลช่วยเหลือลูกวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมรุนแรง คือ 1. ฝึกจัดการกับความโกรธ 2. การเสริมสร้างการตระหนักในคุณค่าของตนเอง 3. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา และ 4. พ่อแม่ควรให้เวลากับการดูแลครอบครัวให้มากขึ้น เพื่อลดปัญหาพฤติกรรมความรุนแรง

          วันนี้ (27 พฤษภาคม 2562) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ปัญหาพฤติกรรมความรุนแรงของวัยรุ่นที่ปรากฎเป็นข่าวทางสื่อต่างๆ มีออกมาเรื่อยๆ และมีแนวโน้ม ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การทะเลาะวิวาทกับผู้อื่นโดยใช้กำลัง การพกพาอาวุธ การทำลายทรัพย์สิน การรวมกลุ่ม   ยกพวกตีกัน การทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนถึงแก่ชีวิต ฯลฯ นำมาซึ่งปัญหาและผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นตามมาอีกมากมาย ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดพฤติกรรมความรุนแรงและในเด็กและเยาวชนนั้น มักเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งด้านสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยด้านบวกหรือปัจจัยป้องกัน และผลกระทบของแต่ละปัจจัย ยังขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่เกิดขึ้น ระยะเวลา และความรุนแรงด้วย นอกจากนี้ หากเด็กและเยาวชนขาดการปลูกฝังความรู้คู่คุณธรรม ขาดการใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา และไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสมในช่วงต้นของชีวิตจะทำให้กลายเป็นปัญหาในอนาคตได้

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตขอแนะนำพ่อแม่ในการดูแลช่วยเหลือลูกวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมความรุนแรง 4 ประการ ดังนี้ 1. ฝึกจัดการกับความโกรธ ซึ่งสามารถฝึกทักษะต่างๆ ตามความถนัดหรือตามความสนใจของวัยรุ่น เช่น ฝึกการควบคุมความโกรธ การจัดการกับอารมณ์ ฝึกควบคุมความคิดของตนเอง การฝึกคลายเครียด เป็นต้น               2. การเสริมสร้างการตระหนักในคุณค่าของตนเอง เป็นการสนับสนุนให้วัยรุ่นเชื่อว่า ตนเองมีคุณค่ามีความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งครอบครัวและคนใกล้ชิดมีส่วนสำคัญในการช่วยประคับประคอง และสนับสนุนให้วัยรุ่นพัฒนาความสามารถตามความถนัดและยอมรับในตัวตนของวัยรุ่น 3. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อารมณ์ ค่อยๆ คิดแก้ไขปัญหา ซึ่งความหนักแน่นมั่นคงของพ่อแม่ การอยู่ในศีลธรรมอันดี จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก และหากลูกวัยรุ่นมีปัญหาก็ให้คำแนะนำ ส่งเสริมให้ใช้เหตุผลในการแก้ปัญหา รวมทั้งแก้ไขปัญหาเคียงข้างลูก และ 4. พ่อแม่ควรให้เวลากับการดูแลครอบครัวให้มากขึ้น มอบความรัก ความอบอุ่น ส่งเสริมให้มีการสื่อสารพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกัน จะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ครอบครัวมีความเข้มแข็ง และจะช่วยให้เด็กวัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและ มีคุณภาพในอนาคต มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และจิตใจที่ดี ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง

          ทั้งนี้ หากพฤติกรรมเด็กวัยรุ่นยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

                              **********************************************                        27 พฤษภาคม 2562

คลังเอกสารคุณภาพฝ่ายการพยาบาล

2-10-2566 10-28-57

Zo2 Framework Settings

Select one of sample color schemes

Google Font

Menu Font
Body Font
Heading Font

Body

Background Color
Text Color
Link Color
Background Image
 
Top of Page