มารู้จัก ไวรัสซิก้า (Zika virus)
- อัพเดตล่าสุดเมือ วันพฤหัสบดี, 30 มกราคม 2563 09:12
มารู้จัก ไวรัสซิก้า (Zika virus)
ไวรัสซิก้า เป็นไวรัสในกลุ่ม ฟลาวิไวรัส (Flavivirus) ซึ่งในกลุ่มนี้มีไวรัสที่สำคัญคือ ไวรัสไข้เลือดออก เด็งกี่ ไวรัสไข้ เหลือง (Yellow fever virus) และ ไวรัสไข้สมองอักเสบ เจอี (Japanese Encephalitis) อนุภาคไวรัสซิก้า เป็นผลึกหกเหลี่ยม มีผนังไขมัน (envelope) ห่อหุ้มภายนอกอีกชั้นหนึ่ง สารพันธุกรรมเป็น อาร์เอ็นเอ (RNA) สายเดี่ยว (+polarity) เมื่อติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ ไวรัสซิก้าจะเติบโตใน cytoplasm ตามธรรมชาติ เชื้อจะไม่แพร่โดยตรงจากคนสู่คน แต่จะแพร่โดยมียุงลาย (Aedes spp.) เป็นพาหะ ปัจจุบันพบเชื้อ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เอเชีย และ สายพันธุ์แอฟริกา
ผู้ป่วยเมื่อติดเชื้อ จะมีอาการไข้สูง ออกผื่นที่ผิวหนัง ปวดข้อ และตาแดง ส่วนใหญ่จะหายได้เอง โรคนี้ยังไม่มียาสำหรับรักษาที่จำเพาะ และยังไม่มีวัคซีน แพทย์จะต้องรักษาตามอาการ ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ได้มีการรายงานผู้ป่วยจาการติดเชื้อไวรัสซิก้าอยู่บ้าง แต่ยังไม่มาก
|
ในช่วงปลายปี 2558 ได้มีการระบาดของไวรัสซิก้า ในแถบอเมริกาใต้ ซึ่งทำให้เกิดอุบัติการณ์สองอย่าง
ประการแรก ในประเทศบราซิล พบทารกแรกเกิดมีศีรษะเล็กกว่าปกติ (microcephaly) เมื่อซักประวัติมารดา พบว่าขณะตั้งครรภ์ได้มีการติดเชื้อไวรัสซิก้า
ประการที่สอง ผู้ติดเชื้อส่วนหนึ่งมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากปลายประสาทถูกทำลาย (Guillain-Barre’ syndrome – อาการ กิลแลง บารเร) อุบัติการณ์ทั้งสองประการนี้ กลไกการเกิดโรคยังไม่ชัดเจน ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสซิก้า เป็นภาวะฉุกเฉิน เทียบเคียงกับ การระบาดของไวรัส อีโบล่า และโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ข้อมูลจาก WHO/ PAHO ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 |