“เครื่องตัดไฟรั่ว” ปลอดภัย มั่นใจทุกครัวเรือน
“เครื่องตัดไฟรั่ว” ปลอดภัย มั่นใจทุกครัวเรือน
ถ้าพูดถึง “เครื่องตัดไฟรั่ว” สำหรับในบ้านเราอาจไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไปเท่าใดนัก แต่ถ้าบอกว่า Safe-T-Cut (เซฟทีคัท) แบบนี้เชื่อว่าน่าจะคุ้นหูเราๆ กันมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็คืออุปกรณ์ชนิดเดียวกันนั่นแหละครับ เพียงแต่อย่างหลังมันเป็นชื่อแบรนด์ที่เราเรียกกันจนติดปาก จนลืมไปว่า จริงๆ แล้วมันก็คือ เครื่องตัดไฟรั่ว นั่นเอง (อารมณ์คล้ายๆ แฟ้บ กับ ผงซักฟอกนั่นแหละ)
ซึ่งจริงๆ แล้ว ชื่อภาษาอังกฤษของ เครื่องตัดไฟรั่ว ไม่ใช่ Safe-T-Cut แต่อย่างใด แต่เป็นEarth Leak Circuit Breaker (ELCB) หรือ Residue Current Circuit Breaker (RCCB) ต่างหากครับ
โดยสำหรับบ้านทุกหลังแล้ว เครื่องตัดไฟรั่ว มีความสำคัญมากครับ ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในบ้าน จึงถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่มีความจำเป็น และควรมีติดตั้งไว้ในทุกบ้าน เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของคนในบ้านของคุณ
ซึ่งในวันนี้ทาง MThai Technology มีบทความที่มีสาระน่ารู้จาก การไฟฟ้านครหลวง มาฝากเพื่อนๆ กันอีกแล้วครับ โดยวันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ เครื่อวตัดไฟรั่ว นั่นเอง
เครื่องตัดไฟรั่ว ทำงานอย่างไร?
เครื่องตัดไฟรั่ว มีหน้าที่ป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่ว ไม่ว่าจะรั่วลงดิน หรือรั่วผ่านร่างกายของคน (ซึ่งจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่อ กระแสไฟฟ้าที่รั่วนั้น เกินกว่าค่าที่จะเริ่มเป็นอันตรายต่อมนุษย์) และเมื่อเกิดไฟรั่วขึ้นเมื่อใด เครื่องตัดไฟรั่วจะทำการตัดกระแสไฟฟ้าออกจากระบบทันทีโดยอัตโนมัติ
โดยทั่วไปเราจะติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับวงจรหรืออุปกรณ์ที่มักได้รับการสัมผัสจากร่างกายของเราเสมอ เช่น วงจรเต้ารับต่างๆ ภายในที่พักอาศัย วงจรไฟฟ้าที่จ่ายให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกอาคาร หรือวงจรเต้ารับ/สายไฟรวมถึง เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องปั้มน้ำ และอื่น ๆ
เครื่องตัดไฟรั่ว ควรใช้คู่กับสายดิน หรือไม่?
กรณี ไม่มีสายดิน : เครื่องจะทำงานตัดกระแสไฟที่รั่ว หลังจากมีบุคคลเข้าไปสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกิดไฟรั่ว
กรณี มีสายดิน : เครื่องจะทำงานตัดกระแสไฟฟ้าที่รั่วโดยอัตโนมัติทันที โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสกับอุปกรณ์ที่เกิดไฟรั่ว
ควรเลือกเครื่องตัดไฟรั่วแบบไหนถึงจะปลอดภัย?
และสำหรับใครที่ยังไม่มีเครื่องตัดไฟรั่ว เรามีข้อแนะนำในการเลือกซื้อ โดยที่ตัวเครื่องตัดไฟรั่ว จะต้องมีมาตรฐานตาม IEC60755 ,IEC61008 IEC61009 ,IEC61543 ,มอก.2425-2552 หรือมอก.909-2548 เป็นสำคัญ
และนอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยอย่างสูงสุด ในการใช้งานต้องตรวจสอบการทำงานของเครื่องอย่างสม่ำเสมอ โดยกดปุ่ม (TEST) เพื่อทดสอบการทำงานว่าเครื่องยังทำงานปกติหรือไม่ ซึ่งปุ่มจะเป็นลักษณะปุ่มเล็กๆ บนตัวเครื่อง โดยเมื่อกดปุ่มสวิตซ์ที่เครื่องตัดไฟรั่ว สวิตซ์จะตกลงมาทันที แสดงว่าเครื่องตัดไฟรั่วนั้นทำงานได้อย่างปกติ และสามารถตัดกระแสไฟฟ้ารั่วได้ทันที
เป็นยังไงกันบ้างครับสำหรับความรู้เกี่ยวกับเครื่องตัดไฟรั่ว ซึ่งเชื่อว่าอุปกรณ์นี้น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่มีใช้กันอยู่แทบทุกบ้านอยู่แล้ว และหากบ้านใครยังไม่มี ก็ควรซื้อมาติดตั้งนะครับ และอย่าลืมหมั่นกดปุ่ม Test สีแดงเพื่อตรวจสอบการทำงานอย่างสม่ำเสมอด้วยล่ะ แค่นี้คนในครอบครัวที่คุณรัก ก็จะปลอดภัยจากการถูกไฟฟ้าชอร์ตแล้วล่ะครับ